เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

โฆษกรัฐบาลทหารพม่าระบุวันนี้ (10) ว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 12 คน จากเหตุเครื่องบินทหารตกในภาคกลางของประเทศ โดยผู้โดยสารบนเครื่องเป็นพระอาวุโส และผู้บริจาคหลายรายที่เข้าร่วมงานพิธีทางศาสนา

เครื่องบินที่บรรทุกลูกเรือ 6 คน และผู้โดยสาร 8 คน ประสบอุบัติเหตุดังกล่าวไม่นานก่อนเครื่องบินจะลงจอดที่เมืองพินอูละวิน ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร ระบุในคำแถลง และกล่าวโทษสภาพอากาศเลวร้าย

คลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยสื่อท้องถิ่นเผยให้เห็นซากเครื่องบินบนพื้นโล่งใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูง และมีกลุ่มควันขนาดเล็กลอยออกมา แต่เอเอฟพีไม่สามารถตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวได้

หน่วยกู้ภัยฉุกเฉินสามารถช่วยชีวิตเด็กชายที่เป็นลูกของผู้บริจาค และทหารยศสิบเอกอีกนายหนึ่ง คำแถลงระบุ และว่า พวกเขาถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลทหารใกล้เคียง

เครื่องบินลำนี้เป็นเครื่อง 2 ใบพัด Beechcraft 1900D ขนาด 19 ที่นั่ง ซึ่งผลิตโดย Beech Aircraft Corporation สหรัฐอเมริกา ได้บินขึ้นจากสนามบินทหารในกรุงเนปิดอ ตั้งแต่เวลา 07.00 น.

บนเครื่องบรรทุกผู้โดยสารรวม 14 คน โดย 8 คน เป็นคณะทำบุญประกอบ ดร.ปธาธะนะตะกะวิสาระ พระภิกษุชั้นผู้ใหญ่จากเมืองเซโกน ภาคมัณฑะเลย์ พร้อมด้วยนายทหารจากกองทัพพม่าและครอบครัว ที่ร่วมเดินทางไปทำบุญในพิธีเปิดอาคารเรียนการสอนพระไตรปิฎก ของสำนักปฏิบัติธรรมมหาวิสุตารามะเซโกน ซึ่งกองทัพพม่าเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้าง ที่เหลืออีก 4 คน เป็นกัปตันและลูกเรือ

สำหรับพระกาวิสาระ พระภิกษุที่มีชื่อเสียงจากวัด Zay Kone ใกล้กรุงเนปีดอ และผู้บริจาค 7 คน อยู่บนเครื่องลำประสบเหตุ กำลังเดินทางไปยังเมืองพินอูละวิน เพื่อร่วมงานพิธีทางศาสนา

เมืองพินอูละวิน ที่เป็นตั้งของวิทยาลัยป้องกันชาติแห่งพม่า (DSA) ที่เป็นที่ฝึกอบรมผู้นำระดับสูงของคณะรัฐบาลทหาร รวมทั้ง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็สำเร็จการศึกษาจากที่นี่

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไปเยือนวัดดังกล่าว และเข้ากราบนมัสการเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 2 ก.พ. สื่อของรัฐรายงาน หนึ่งวันหลังขับไล่อองซานซูจี ผู้นำพลเรือนออกจากอำนาจในการรัฐประหาร

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

-วิจารณ์สนั่น “เสาไฟกินรี” ในพื้นที่ถนนลูกรัง จ่อจับผิดความโปรงใสในการก่อสร้าง

-ชื่นชม “น้องเก้า วัย 16 ปี” เก็บของเก่าส่งตัวเองเรียน ล่าสุด “ผู้ใหญ่ใจบุญ” ร่วมกันเข้าช่วยเหลือแล้ว

พม่าตกอยู่ในความโกลาหลนับตั้งแต่นั้น ที่การชุมนุมประท้วงส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลง

ก่อนหน้านี้ พระสงฆ์พม่าเป็นผู้นำการต่อสู้ต่อต้านการปกครองของทหาร แต่เริ่มแบ่งฝ่ายกันในการรัฐประหารที่ยุติระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มต้นของประเทศ ด้วยผู้นำทางศาสนาที่มีชื่อเสียงบางรูปปกป้องรัฐบาลทหารชุดใหม่

ทหารพยายามควบคุมการชุมนุมประท้วงด้วยการปราบปรามนองเลือดที่สังหารพลเรือนไปมากกว่า 800 คน ตามการระบุของกลุ่มตรวจสอบท้องถิ่น ซึ่งสิ่งนี้ได้กระตุ้นให้พลเรือนในบางเมืองตั้งกองกำลังป้องกันขึ้น ขณะที่กองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์บางกลุ่มของประเทศเพิ่มการโจมตีกองทัพ

เมื่อเดือนที่ผ่านมา กองทัพเอกราชกะฉิ่น กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับทหารมานานหลายทศวรรษ ได้ยิงเฮลิคอปเตอร์ทหารตกหนึ่งลำระหว่างการปะทะกันอย่างดุเดือด

เหตุการณ์เครื่องบินตกเป็นเรื่องปกติในพม่า เนื่องจากภาคการบินที่ด้อยพัฒนาและฤดูมรสุมของประเทศมักสร้างปัญหาให้แก่เที่ยวบินพาณิชย์และเที่ยวบินทหารในอดีต เช่น ในปี 2560 เกิดเหตุเครื่องบินทหารตกในทะเลอันดามัน ทำให้ลูกเรือและผู้โดยสารรวม 122 คน เสียชีวิตยกลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุการบินครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวโทษสภาพอากาศเลวร้าย

และในปี 2558 เครื่องบินโดยสารของสายการบินแอร์บากัน (Air Bagan) ลื่นไถลออกนอกรันเวย์ท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายและฝนตกหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน.