เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จากกรณี งานระบาดวิทยาสำนักงานสาธารณสุข ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลกว่า พบผู้เสียชีวิตโดย “โรคไข้หูดับ” จำนวน 1 ราย เป็นเพศหญิงอายุ 49 ปี ในพื้นที่ตำบลพลายชุมพล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ทีม PCC โรงพยาบาลพุทธชินราช จึงได้ดำเนินการสอบสวนโรคในพื้นที่ ผลยืนยันการระบาดของโรคและหามาตรการป้องกันควบคุมโรคแล้ว

วันที่ 22 มิถุนายน นายแพทย์รัฐภูมิ ชามพูนท รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า กรณีผู้ป่วยเพศหญิง อาชีพอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดพิษณุโลก เสียชีวิตด้วยโรคไข้หูดับ จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า ได้มีการซื้อเนื้อหมู จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง มาประกอบอาหารปิ้งย่างหมูกระทะ ร่วมกับเพื่อนๆ จำนวน 7 คน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา
โดยผู้เสียชีวิตมีแผลที่มือ ได้เป็นผู้หั่นหมู จากนั้น วันที่ 14 มิถุนายน เวลา 23.00 น. เริ่มมีอาการท้องเสีย อาเจียน จึงไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลก ด้วยมีอาการปวดกระดูก หนาวสั่น ปากเขียวและเข้ารักษาห้องไอซียู ร่างกายไม่ตอบสนองและไตไม่ทำงาน ก่อนเสียชีวิตในเวลา 23.58 น. ของวันที่ 15 มิถุนายน แพทย์สงสัยเป็น “โรคไข้หูดับ” จึงนำเลือดส่งตรวจ ผลยืนยันว่าเป็นโรค Streptococcus suis หรือโรคไข้หูดับ ซึ่งผู้เสียชีวิต ได้มีการฌาปนกิจไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา

หลังจากนั้น ทีมสอบสวนจากโรงพยาบาลพุทธชินราช ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคเพิ่มเติมพบว่า จากการตรวจที่ห้างฯดังกล่าว มีการรับหมูแช่แข็งมาจาก 4 บริษัท โดยเป็นหมูที่มาจากโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เก็บในห้องควบคุมอุณหภูมิ และมีการตรวจมาตรฐานสม่ำเสมอ
สำหรับโรคสเตรปโตคอคคัส ซูอิส ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบมีผู้ติดเชื้อจำนวนทั้งสิ้น 13 ราย ซึ่งใน 13 ราย มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตจำนวน 2 ราย สำหรับอัตราการป่วยด้วยโรคไข้หูดับ ของจังหวัดพิษณุโลก สถิติสูงสุดที่อำเภอเมืองพิษณุโลก รองลงมาอำเภอเนินมะปราง นครไทย วังทอง วัดโบสถ์ พรหมพิราม บางกระทุ่ม บางระกำ และอำเภอชาติตระการ ตามลำดับ

โดยเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถพบได้โดยทั่วไป แต่สำหรับโรคสเตรปโตคอคคัสซูอิสนี้ เกิดขึ้นในเนื้อหมู หรือสุกร ซึ่งผู้เสียชีวิตรายนี้ เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการกินหมูสุกๆ ดิบๆ หรือจากมือมีบาดแผลแล้วไปสัมผัสกับเชื้อ เข้าสู่กระแสเลือด

กรณีนี้ทราบว่า ผู้เสียชีวิต มีบาดแผลที่มือ แล้วเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดทางบาดแผล หรืออาจเกิดจากการบริโภคเนื้อหมูที่มีเชื้อ ซึ่งโอกาสการเกิดเชื้อโรคไข้หูดับดังกล่าว ไม่ได้พบบ่อยมากนัก ทั้งนี้ ฝากเตือนประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก การป้องกันโรคไข้หูดับนี้ สามารถป้องกันได้โดยบริโภคเนื้อหมูที่ปรุงสุก อย่ากินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อีกทั้งหากมีบาดแผลที่มือ ก็เลี่ยงการสัมผัสเนื้อหมูและน้ำเลือด หากมีการสัมผัสให้ล้างทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาด ที่สำคัญการบริโภคหมูกระทะ ไม่ควรใช้ตะเกียบที่คีบหมูดิบ มาหยิบอาหารใส่ปากเด็ดขาด ควรใช้แยกกัน.

สังเวยไปแล้ว 26 ศพ สำหรับพวกกินสุกๆดิบๆ เจอไข้หูดับเล่นงาน