เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ช่วงนี้บางจังหวัดมีเทศกาลและงานบุญต่างๆ ซึ่งมีการจัดเลี้ยงร่วมกัน จึงควรระวังบริโภคหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ ข้อมูลกรมควบคุมโรคปี 60 มีรายงานผู้ป่วย 317 ราย เสียชีวิต 15 ราย ส่วนปี 61 พบมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ 1 ม.ค.–19 ต.ค.61 ป่วย274 ราย เสียชีวิต 26 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา 45-54 ปี ภาคเหนือป่วยมากที่สุด 199 ราย 5 จังหวัดที่ป่วยมากที่สุดคือ พะเยา อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และสระแก้ว

สำหรับโรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย ติดต่อได้ 2 ทางคือ สัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนหรือทางเยื่อบุตา, บริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ จะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน เชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ อาจทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวกถาวร และอาจเสียชีวิตจากติดเชื้อในกระแสเลือดได้

ทั้งนี้ ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อคือ สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น เลี้ยงหมู ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ชำแหละเนื้อหมู และรับประทานเนื้อหมูดิบ กลุ่มที่เสี่ยงจะมีอาการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ ติดสุราเรื้อรัง มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ เคยตัดม้ามออก เป็นต้น วิธีป้องกันโรคคือ กินหมูสุกเท่านั้น เลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์, ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง ถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ภายหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันทีและบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ หากพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราหูหนวกและเสียชีวิตได้