เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นาย อธึกกิต แสวงสุข อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองอาวุโส สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี และเจ้าของคอลัมน์ “ใบตองแห้ง” หนังสือพิมพ์ข่าวสด ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Atukkit Sawangsuk” เปรียบเทียบปรากฏการณ์ ตูน บอดี้สแลม ว่า เปรียบได้กับงานบุญเดือนสิบ บวกกับ อภิมหาอีเวนท์โชว์กลางเมือง และฝนดาวตก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีครั้งเดียวในรอบร้อยปีพันปี พลาดไม่ได้ ไม่ได้บอกว่าในปรากฏการณ์นี้ไม่มีความดี ความใจบุญกุศลอยู่ด้วย แม้จะมี แต่มันดูเหมือนด้านที่เป็นวัฒนธรรมป๊อปท่วมท้นกว่า

นายอธึกกิต กล่าวว่า “ที่ต้องวิเคราะห์วิจารณ์กระแสตูนฟีเวอร์ ไม่ใช่จะไปขัดขาคนทำความดี แต่ปรากฏการณ์ฟีเวอร์ที่เกิดรอบตัวตูนมีอะไรน่าคิดเยอะมาก ไม่ใช่จะแค่มาแซ่ซ้องสดุดีกันอย่างเดียว มันมีคำถามว่า นอกจากได้เงินทำกุศลแล้ว เป็นการเคลื่อนไหวที่ยกระดับสังคมไทยจริงๆ หรือเปล่า ตัวอย่างเช่น ทำให้เป็นสังคมที่มีน้ำใจต่อกันมากขึ้น ร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหา ฯลฯ หรือเป็นสังคมจมเปลือกอยู่เช่นเดิม”

ก่อนหน้านี้ นายอธึกกิต ได้เขียนบทความในหัวข้อ “ทำดีต้องมีกิมมิก” ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ระบุว่า ตูน บอดี้สแลม ออกวิ่งวันแรก ได้เงินบริจาคแล้ว 40 ล้าน แต่รวมเงินประเดิมจากบริษัทรายใหญ่ ได้แก่ กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ 24 ล้านบาท และ กัลฟ์เอนเนอร์จี 10 ล้านบาท แล้ว เป็นเงินชาวบ้านรายย่อย 6 ล้านบาทเท่านั้น แม้เจ้าตัวอยากเห็นคนไทย 70 ล้านคน บริจาคคนละ 10 บาท ให้ได้ 700 ล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาล แต่ก็รู้กันว่าเงินก้อนใหญ่จะมาจาก บริษัทห้างร้าน โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งจะปิดบัญชีปลายปี สามารถบริจาคหักภาษีได้ 2 เท่า เพราะเป็นการบริจาคเข้ามูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ตลอดระยะเวลา 55 วัน สิ่งที่จะเห็นควบคู่กับภาพแฟนคลับคล้องพวงมาลัย คือการประกาศบริจาคเงินก้อนใหญ่ ของภาคธุรกิจ ที่จะเลือกทำซีเอสอาร์ในจังหวะที่เหมาะสม อย่างน้อยทีมงานต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เป็นข่าวต่อเนื่อง 55 วัน แม้วันแรกๆ เริ่มได้สวย แต่ตามหลักวิชาข่าว ถ้าวิ่ง 55 วันไม่มีอะไรต่างกัน ก็ไม่เป็นข่าว ไม่เรียกคนสนใจ ต้องมีสีสัน มีช่วงเวลาสะเทือนใจ มีภาพตื้นตัน มีเสียงหัวเราะ มีน้ำตา รวมทั้งมีวาทกรรม ซึ่งต้องดูว่าเราอยู่ในสังคมอะไร ถึงจะเป็นการรณรงค์ให้คนทำความดี ต้องมีศาสตร์และศิลป์ เข้าใจกระแสสังคม รู้จักชง พยุง หรือชูกระแส โดยทำตามความเหมาะสม

นายอธึกกิต เห็นว่า ตูน บอดี้สแลม เริ่มต้นดีมีชัยไปครึ่งหนึ่ง เช่นพูดว่า “ถึงตาย ก็ไม่เสียดาย” “ผมทำมากกว่าพูด” แต่ช่วงเวลาจากนี้ไปถึงวันที่ 25 ธ.ค. ทุกคนต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ให้พาดหัวข่าวได้ทุกวัน เช่น มวลมหาดารานักร้องที่อยากเป็นคนดี ต้องสลับคิวไปช่วยวิ่ง แต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด ที่ตูน บอดี้สแลม ผ่านต้องสร้างสีสันแปลกๆ กันไป หมอ พยาบาล คนไข้ ช่วยสร้างภาพตื้นตันสะเทือนใจ นักการเมืองชูป้ายได้ หากโดนด่าสื่อก็มีประเด็นขายข่าว พร้อมแนะให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ร่วมวิ่ง มาถึงกรุงเทพฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับไม้ผลัด อาจจะได้เกิน 3 พันล้านบาท ขึ้นกับวิธีบริหารจัดการ ให้สังคมมีอารมณ์ร่วม

“จะได้เงินบริจาคมากแค่ไหนขึ้นกับกระแส จึงต้องมีวิธีบริหารกระแส ถึงแม้เป็นการรณรงค์ให้ทำดี เราอยู่ในสังคมที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น ผู้คนบริโภคสื่อแบบฉาบฉวย เปลี่ยนใจง่าย มีดราม่าใหม่ๆ ทุกวัน ยุคนี้สมัยนี้ทำดีไม่มีคนเห็นไม่พอ ต้องชวนคนอื่นทำดีไป ด้วยกัน ฉะนั้น ปิดทองหลังพระก็ต้องเซลฟี่ จะได้มีคน ปิดทองหลังพระเยอะๆ เรื่องพวกนี้ นักรณรงค์ทางสังคมรู้ดี รู้พอๆ กับพีอาร์ (นักประชาสัมพันธ์) นักโฆษณา หรือไอโอ (ฝ่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร) อย่างน้อยต้องดรามา ยุคนี้สมัยนี้ถ้าอยากขายสินค้า ก็ต้องขายสตอรี (เรื่องราว) ตั้งแต่สารต้านอนุมูลอิสระ เครื่องสำอาง อาหารเสริม ไปจน รณรงค์รักษ์โลก รักษ์เต่า บริจาคเข้ามูลนิธิ” นายอธึกกิต กล่าว

นายอธึกกิต กล่าวว่า เราอยู่ในยุคที่คนทำดีต้องพีอาร์ เพื่อขยายผลแห่งกรรมดี ขณะเดียวกัน ความดีก็ขายได้ จึงทำให้สับสน เช่น คำว่า เติมเต็ม แบ่งปัน คิดบวก ธุรกิจเพื่อสังคม ฯลฯ ทุกวันนี้กลายเป็นวาทกรรมทำเงินของบริษัทโฆษณา ส่วนซุปเปอร์สตาร์ ดารา นักร้อง สมัยนี้ก็ต้องหัดทำไร่ไถนา พาลูกดำนา อยู่กับธรรมชาติ เข้าวัด ปฏิบัติธรรม เดินจงกรมเหยียบขี้หมา ฯลฯ ซึ่งแยกยากระหว่างจริงใจหรืออยากอัพเกรด เพราะกลายเป็นวัฒนธรรมป๊อปไปแล้ว การทำความดีสมัยนี้ จึงแยกจากกระแสลำบาก