เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายในมุมวิทยาศาสตร์เรื่องพลังงานเสียงว่า จะแปรผกผันกับระยะห่าง จากการคำนวณตามหลักฟิสิกส์ เพื่อวัดความดังของเสียงระฆังที่ตีจากหอระฆังวัดไทร โดยคำนวณจากความสูงของหอระฆัง 12 เมตร ความดังของเสียงระฆังที่ตี 120 เดซิเบล ซึ่งเป็นความดังสูงสุดที่หูของมนุษย์สามารถรับได้โดยไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพ เนื่องจากดูคลิปแล้วพระลูกวัดที่ตีไม่ได้มีอาการแสบหู และระยะห่างระหว่างหอระฆังกับคอนโดมีเนียม ซึ่งตามข่าวอยู่ห่างกัน 800 เมตร และกำหนดให้ความสูงของคอนโดมีเนียมเท่ากับความสูงของหอระฆัง คือ 12 เมตร พบว่า ความดังของเสียงระฆังที่ดังที่สุดเมื่อถึงคอนโดมีเนียมในความสูงเดียวกับหอระฆัง ซึ่งอยู่ที่ชั้น 4 ของคอนโด อยู่ที่ 62 เดซิเบล หากอยู่คอนโดมีเนียมชั้นสูงขึ้นไปเช่น ชั้น 5 ชั้น 6 ชั้น 7 เสียงของระฆังที่ได้ยินจะเบาลงเหลือ 60 เดซิเบล

ดร.สธน กล่าวต่อว่า หากวัดระยะห่างของหอระฆังกับคอนโดมีเนียมอยู่ที่ 300 เมตร จากเดิม 800 เมตร เนื่องจากมีบางคนบอกว่าระยะห่างของหอระฆังกับคอนโดมีเนียมอยู่ที่ 300 เมตร ความดังสูงสุดที่ผู้อาศัยอยู่ในคอนโดมีเนียมจะได้ยินคือ 70 เดซิเบล

ทั้งนี้ ดร.สธน กล่าวว่า ความดังของเสียงขนาด 60 เดซิเบล เปรียบเหมือนกับเปิดทีวีเสียงดังระหว่างที่อยู่ในห้อง หรือคุยกับเพื่อนที่ยืนห่างกันระยะ 3 เมตร หรือเสียงดังเท่ากับการใช้งานเครื่องดูดฝุ่น ส่วนความดัง 70 เดซิเบล เทียบเสียงเหมือนยืนใกล้ๆ เครื่องดูดฝุ่น หรือเสียงดังเหมือนยืนริมถนน