เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จากกรณีมีสื่อและชาวต่างชาติอย่างเช่น สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยอ้างว่าพระราชพิธีฯ ดังกล่าวใช้งบประมาณสูงราว 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3,000 ล้านบาท) ทีมข่าวได้ไปสืบค้นข้อมูลย้อนหลังพบว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เคยใช้งบประมาณในการจัดงานศพของนายโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2547 อย่างน้อย 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 13,300 ล้านบาท) เช่นกัน

ข้อมูลจากสำนักข่าวยูพีไอ (UPI) โดยชิโฮโกะ โกโต ซึ่งเคยเขียนถึงกรณีงบประมาณที่ใช้ในการจัดงานศพของนายเรแกนเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ระบุว่า เงิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้นเป็นขั้นต่ำจากงบประมาณของสหรัฐฯ แต่หากพิจารณาค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมไปถึงการประกาศวันหยุดอันยาวนาน ค่าใช้จ่าย ค่าเสียโอกาส ที่คนสหรัฐฯ ต้องสูญไปกับงานศพของอดีตประธานาธิบดีเรแกนนั้นอาจสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ราว 33,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

แฟ้มภาพ

“สัปดาห์แห่งการไว้อาลัยอย่างเป็นทางการให้แก่โรนัลด์ เรแกน ผู้ล่วงลับสิ้นสุดลงแล้ว ถึงแม้ว่าในเชิงปฏิบัติจะต้องมีการลดธงลงครึ่งเสาอีก 30 วัน หลังจากงานศพของเขาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ไม่เพียงแค่ธงชาติที่จะคงระลึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 40 ผู้ล่วงลับ เพราะผู้จ่ายภาษี และธุรกิจต่างๆ ยังต้องต้องควักกระเป๋าจ่ายให้กับสัปดาห์แห่งการไว้อาลัย

“นับตั้งแต่นายเรแกนเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ร่างของชายวัย 93 ปีได้ถูกขนถ่ายเป็นครั้งแรกจากห้องสมุดประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในซิมิ วัลเลย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้ผู้ไว้อาลัยได้เข้าคารวะศพเป็นเวลาหนึ่งวัน ไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อไว้ศพที่แคปิตอล ฮิลล์ เป็นเวลาสองวัน ก่อนที่ขบวนรถจะย้ายศพไปที่มหาวิหารแห่งชาติวอชิงตันเพื่อทำพิธีอย่างเป็นทางการ

“นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่เห็นกันชัดๆ ในการจัดงานศพอย่างเช่น โลงศพไม้มะฮอกกานี หนัก 700 ปอนด์ที่ประเมินราคาได้ราว 14,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว465,000 บาท) แล้ว เพื่อจัดงานศพนายเรแกน เมืองหลวงของสหรัฐฯ ยังต้องปิดทำการเป็นเวลาหนึ่งวัน ขณะที่ตลาดเงินก็ต้องปิดทำการเพื่อไว้อาลัยให้กับอดีตผู้นำ การปิดทำการดังกล่าวเป็นราคาที่ผู้จ่ายภาษีและธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ ต้องจ่ายด้วย” สำนักข่าวยูไอพีระบุ และกล่าวต่อว่า

“บางทีอาจเป็นเรื่องผิดปกติของความพยายามในการตีมูลค่าของงานศพระดับรัฐพิธี ทำให้ทั้งสำนักงานบริหารบุคคลของสหรัฐฯ และ สำนักงบประมาณต่างปฏิเสธที่จะประเมินงบประมาณของการจัดพิธีดังกล่าว โดยสำนักงานบริหารบุคคลของสหรัฐฯ ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 1.8 ล้านคน ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจ้างอยู่ โดยหากคิดเป็นงบประมาณค่าจ้างรายวันก็อยู่ที่ราว 423 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 14,000 ล้านบาท) โดยเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนถูกสั่งให้หยุดงานในวันพิธีเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรที่แออัด นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่อีกบางส่วนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในวันพิธี ทั้งเจ้าหน้าที่ตำวรจและฝ่ายความมั่นคง ทำให้ค่าใช้จ่ายในวันจัดงานน่าจะสูงขึ้นกว่าวันทำงานปกติ

“นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายศพของนายเรแกนไปมาระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนีย กับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยประธานาธิบดีบุชส่งเครื่องบินแอร์ฟอร์ซ วันหนึ่งลำ ไปยังฝั่งตะวันตกเพื่อย้ายศพของนายเรแกน โดยเครื่องบินโบอิง 747s นั้นถูกสั่งทำตอนนายเรแกนเป็นประธานาธิบดี แต่เครื่องบินกว่าจะได้ใช้งานก็สมัยประธานาธิบดีบุช ผู้พ่อ โดยค่าใช้จ่ายสำหรับเชื้อเพลิง ในการนำเครื่องแอร์ฟอร์ซวันบินไปกลับวอชิงตัน ดี.ซี. และแคลิฟอร์เนีย สองรอบนั้นก็ไม่ถูก เพราะเรื่องโบอิง 747 บรรทุกน้ำมันได้เต็มถังที่ 47,000 แกลลอน ขณะที่การบินระยะทาง 6 ชั่วโมงนั้นใช้น้ำมันราวครึ่งถัง เมื่อคูณเข้ากับราคาน้ำมันแกลลอนละ 1.98 เหรียญสหรัฐฯ นั่นคิดเป็นเงินภาษีจำนวนไม่น้อยเลยที่ต้องใช้จ่ายไป

“ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก รวมไปถึงตลาดเงินใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ยังต้องปิดทำการในวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับผู้ลงทุนนับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กก็ปฏิเสธที่จะประเมินว่ามีเงินจำนวนมากเท่าไหร่ที่ต้องสูญเสียไปจากการปิดทำการในวันศุกร์ แต่จากการประเมินการซื้อขายต่อวันที่ 1,540 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 47,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้หากคำนวณว่าการซื้อขายในช่วงฤดูร้อน และธุรกรรมที่ทำกันในวันศุกร์นั้นมีน้อยอยู่แล้ว แต่ก็ยังเห็นได้ชัดว่าการปิดตลาดถือเป็นการสูญเสียโอกาสของนักลงทุนจำนวนมาก

“ในส่วนของธุรกิจร้านค้าที่อยู่ในย่านใจกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็เสียโอกาสเช่นกัน เมื่อร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาบรรดาลูกค้าที่เป็นพนักงานบริษัท ทำให้มีเพียงร้านอาหารกลางวันไม่กี่แห่งที่เปิดทำการ เพราะต่างเห็นว่าวันดังกลาวจะไม่มีลูกค้า” นักเขียนอาวุโสของยูพีไอระบุ

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายยูพีไอให้ความเห็นว่าค่าใช้จ่ายและการสูญเสียโอกาสดังกล่าว อาจมองได้ว่าคุ้มค่าเมื่อย้อนกลับไปมองในช่วง ทศวรรษที่ 1980 ซึ่งประธานาธิบดีเรแกนดำรงตำแหน่ง และสหรัฐฯ ยังตกอยู่ในยุคท้ายของสงครามเย็น นอกจากนี้ที่ผ่านมายังไม่มีเคยมีประธานาธิบดีคนใดที่เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ทางการสหรัฐฯ ไม่จัดรัฐพิธีให้ และหากมองอีกมุมหนึ่งการจัดพิธีศพของเรแกนก็อาจเป็นค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย ในการสร้างความสามัคคีให้กับชาวสหรัฐฯ

สำหรับ นายโรนัลด์ วิลสัน เรแกน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2524-2532 เคยมีอาชีพเป็นนักแสดงหนังแอ็คชันคาวบอย ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียคนที่ 33 และประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐฯ โดยระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯ ถือว่ามีบทบาททางการเมืองโลกอย่งายิ่ง โดยเป็นยุคสิ้นสุดของสงครามเย็น และสหภาพโซเวียตพี่ใหญ่ของโลกคอมมิวนิสต์ถึงวาระล่มสลาย นายเรแกนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2547 ที่นครลอสแองเจลิสด้วยวัย 93 ปี

แฟ้มภาพ

ที่มา – manager