เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จากกรณีมีกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์เรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ใช้กัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ รวมถึงกระแสข่าวที่เครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งในต่างประเทศสนใจพัฒนาเครื่องดื่มกัญชาเพื่อสุขภาพ สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องได้รวบรวมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ ผลดี ผลเสีย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อควบคุม การนำกัญชาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และอาจก่อเป็นกระแสการเข้าใจผิดของสังคมได้

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.61 ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับพืชเสพติด โดยเห็นว่า ควรกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อไป โดยไม่อนุญาตให้มีการใช้ในเชิงสันทนาการ แต่เปิดช่องให้สามารถขออนุญาตศึกษาวิจัยกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 6 ม.ค. 2560 กำหนดให้ผู้ที่มีความประสงค์ปลูก จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีกัญชาไว้ในครอบครอง เพื่อการศึกษาวิจัย หรือเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยเหตุผลความจำเป็น จำนวนหรือปริมาณ และหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาอนุญาต

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินการเสนอร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 (กัญชา) เพื่อการศึกษาวิจัย หรือเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมได้ อีกทั้งยังมีอำนาจประกาศกำหนดชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา) ซึ่งอนุญาตให้เสพเพื่อการรักษาโรค หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้โดยไม่เป็นความผิด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกถึงกระแสข่าวที่ว่าอาจมีการเสนอให้ออกคำสั่ง ม.44 นำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ว่า หากเป็นไปได้ ในฐานะคนทำงานด้านนี้ก็ยินดีสนับสนุนให้ใช้ ม.44 เพื่อปลดล็อก เพราะขณะนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็หวั่นเกรงว่า หากปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย อาจจะไม่ทันในสภาสมัยนี้ เพราะคาดว่าสภาชุดนี้ จะเหลือเวลาพิจารณาอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้น หากใช้ ม.44 ปลดล็อกจริง จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้อย่างมาก เพราะทันทีออกคำสั่ง จะสามารถสกัดน้ำมันกัญชาได้ และเมื่อได้สารสกัดน้ำมันกัญชาแล้ว จากนั้นในทางการแพทย์จะนำไปแปรรูปเพื่อการรักษาบำบัดผู้ป่วยได้หลากหลาย ทั้งในรูปของครีมทาผิว ยาเหน็บ น้ำมันหยด เป็นต้น