เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 18 ต.ค. 60 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ถึงยังพระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง โดยรถยนต์พระที่นั่งเทียบที่หน้าพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศงานพระราชพิธี นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และคณะกรรมการ เฝ้าฯ รับเสด็จ การนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชอาสน์ที่หน้ามุขพระที่นั่งทรงธรรม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการฯ กราบบังคมทูลรายงาน และเบิกกรรมการสร้างพระเมรุมาศ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมนพปฎลมหาเศวตฉัตร

ต่อมานายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ถวายสายสูตรยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร โหรหลวงลั่นฆ้องชัย ชาวพนักงานประโคม สังข์ แตร และดุริยางค์ เมื่อนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเมรุมาศแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราช ทานสายสูตรคืนอธิบดีกรมศิลปากร รับไปผูกไว้ที่เสาบัว ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพระที่นั่งทรงธรรมและพระเมรุมาศ ตามพระราชอัธยาศัย และเสด็จพระราชดำเนินกลับ

สำหรับนพปฎลมหาเศวตฉัตร ปักยอดพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีขนาดความกว้าง 1.20 เมตร สูง 5.10 เมตร น้ำหนัก 80 กิโลกรัม เป็นฉัตรขาว 9 ชั้น แต่ละชั้นของฉัตรมีระบายขลิบทองแผ่ลวด 3 ชั้น ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง ปลียอดฉัตรเป็นทรงองค์ระฆังต่อด้วยบัวกลุ่ม ปลียอดฉัตรทำด้วยทองเหลืองกลึงปิดทอง

สำหรับการออกแบบนพปฎลมหาเศรฉัตรได้นำต้นแบบมาจากพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 6และพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 8 โดยดำเนินการจัดสร้างตามแบบโบราณราชประเพณีที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ตามความหมายคือนพ แปลว่าเก้าเศวต แปลว่า ขาว ส่วนฉัตรคือร่มขาวที่กางทั้งหมด 9 ชั้นโดยการจัดสร้างนพปฎลมหาเศวตฉัตรครั้งนี้มีความพิเศษคือมีขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ส่วนปลียอดจนถึงยอดสุด 5.10 เมตร และมีความกว้าง 1.10 เมตร จัดทำด้วยผ้าเบาทิ้งตัวสีขาวมีขลิบทองรวม 3 ชั้นโดยนำผ้า 3 ผืนมาล้อมโครงในการขลิบทองเส้นขลิบของฉัตรชั้นล่าง มีความหนาที่สุด และแขวนประดับด้วยจำปา 14 ช่อห้อยลงมาให้เกิดความสวยงาม

ที่สำคัญที่บริเวณส่วนยอดของฉัตรได้ดำเนินการตามแบบโบราณราชประเพณีคือนพปฎลมหาเศวตฉัตร ต้องมีลักษณะเป็นทรงองค์ระฆังจากนั้นเป็นบัวกลุ่ม คั่นด้วยลูกแก้ว บัวกลุ่มต่อด้วยปลีปลาย เป็นโลหะทองแดงกลึงรับ เพื่อต่อสายล่อฟ้าด้วย อย่างไรก็ตามการจัดสร้างครั้งนี้มีการใช้ตาข่ายพลาสติก ใส่ไว้ในโครงสร้างเพื่อเวลาที่ฉัตรเจอลมแล้วจะไม่ยุบช่วยทำให้การเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติและยังสามารถกลับมาอยู่ที่เดิมและไม่เป็นสนิม

สำหรับวิธีการยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรจะเป็นการยกตัวฉัตรทั้งหมด ดังนั้นจะต้องมีการประกอบแกนฉัตรเป็นเหล็กและมีก้านออกไปเหมือนร่ม การติดตั้งฉัตรต้องสลักเข้าเดือยให้แน่นหนามีความแข็งแรงสูงสุด โดยเฉพาะปลายฉัตรที่จะต้องทำหน้าที่เป็นสายล่อฟ้า จึงต้องใช้โลหะทองแดงกลึงที่บริเวณส่วนปลายและจะมีสายทิ้งดิ่งยังข้างล่างโดยได้ดำเนินการไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่การยกฉัตรนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวัง สายทิ้งดิ่งจะตกไม่ได้ โดยกรมศิลปากรได้ทดลองยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปลอดภัย ไม่อันตราย และน้ำไม่รั่วไหลตามร่องซึมเข้าไปสู่พระเมรุมาศอย่างแน่นอน

Cr. AMARINTV