เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จากกรณีปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตทีมหมูป่าฯ ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย กระทั่งสามารถช่วยเหลือทั้งหมดออกมาได้อย่างปลอดภัย ผบ.ซีล ยอมรับเป็นภารกิจสุดยาก

เวลา 18.00 น. วันที่ 11 ก.ค. นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการ ศอร. พร้อมด้วย พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ, นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายสุขชัย เจรียงประเสริฐ เกษตรจังหวัดเชียงราย และ พลตำรวจตรี ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้ร่วมกันแถงข่าว

พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือซีล กล่าวว่า

“ก่อนอื่นขอบอกว่า เราไม่ใช่ฮีโร่ หลายๆ คนเป็นฮีโร่ งานนี้สำเร็จได้ด้วยพวกเราทุกคน หน่วยซีลมีภารกิจที่ถือมาในลักษณะนี้เป็นประจำ กองทัพเรือมีสโลแกนว่า กองทัพเรือจะไม่ทิ้งประชาชน ส่ิงนี้เป็นสิ่งที่กองทัพเรือยึดมั่น เมื่อได้รับการขอจากเชียงราย ขอหน่วยซีลมาช่วยผู้ประสบภัยในถ้ำที่มีน้ำ รอบแรก ระดมพลด่วน เครื่องบินออกเที่ยงครึ่ง มาถึงเกือบตีสอง นำกำลังพลรอบแรกมา 20 นาย ตี4 ลุยเข้าไปในถ้ำ และอยู่ในถ้ำจนถึงสามแยก ตอนแรกไปได้ถึงตรงนั้น หน่วยกู้ภัยเดิมไม่สามารถไปได้ เพราะไม่สามารถทะลุช่องที่มีทรายนำมาทับถม ขณะนั้นเมื่อทะลุช่องทางนั้นไปแล้ว นักดำน้ำทีมซีลได้เข้าไปจากสามแยกเข้าไปถึงพัทยาบีช และเห็นแต่คราบรอยเท้า แต่ไม่เจอน้อง ดำน้ำต่อไป แต่สภาพของถ้ำมืดมาก ไม่เคยเจอมาก่อน จึงต้องถอยกลับมาเตรียมอุปกรณ์ และวันนั้นฝนตกหนักมาก ต้องถอยร่นออกมาจากสามแยก ต้องถอยมาถึงโถง 3

ช่วงนั้นเอง ได้รับรายงานตลอด แต่ไม่เข้าใจ จนต้องมาดูเอง และลงพื้นที่ หกโมงเย็นเข้าไปถึงโถง 3 พยายามลุยในเรื่องสูบน้ำออก แต่สู้น้ำไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็ต้องถอยร่นกำลังพลออกจากถ้ำ 10 โมงเช้า ได้เห็นความยากลำบาก จึงขอกำลังพลจากกองทัพเรือมาเป็นระลอกที่ 2-3 แต่สู้กำลังน้ำไม่ได้ ถอยมาเรื่อยๆ จนถึงปากถ้ำ ตอนนั้นความหวังเหลือนิดเดียว เพราะระดับน้ำขนาดนี้จะเข้าไปช่วยได้อย่างไร วันนั้นก็วันที่ 7-8 แล้ว ขณะนั้นมีหน่วยอื่นใช้เครื่องสูบน้ำออก สู้กับน้ำ 2-3 วัน แต่น้ำลดไปแค่วันละ 1-2 ซม.

อย่างไรก็ตาม ได้เข้าไปดู จากโถง 1 ไปโถง 3 สุดท้าย ก็มุดน้ำดำลงไปถึงโถง 3 พบว่า โถง 3 มีที่ว่าง ที่จะตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าได้ แต่การเข้าไปสาหัสสากรรจ์พอสมควร ต้องเดิน ดำน้ำ ขึ้นโขดหิน ปีน แต่ต้องสู้ สุดท้ายจึงตัดสินใจสู้กับน้ำ โดยต้องหาขวดอากาศมาเป็นจำนวนมาก ตอนแรกภาคเอกชน 200 ขวด ต่อมาได้รับพระราชทานอีก 200 ขวด ได้ร่วมใจกันว่าต้องเอาขวดอากาศวางเรียงไว้ในน้ำ เพื่อต้องสู้เอาน้องๆ ออกมาให้ได้ แต่ละคนเอาขวดอากาศไว้คนละ 3 ขวด เพื่อต้องหาน้องๆ ให้ได้ โชคดีที่มีเพื่อนๆ นานาชาติมาช่วย มีนักดำน้ำจากหลายประเทศ จากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน และเครือสหภาพยุโรป อังกฤษ เยอรมนี ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และกลุ่มเชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำโดยตรง วางแผนทำอย่างไรต้องหาน้องๆ เจอ ประเมินว่าถึงสามแยกต้องเลี้ยวซ้าย วางเบสไลน์ครั้งละ 200 เมตร ถ้าเลี้ยวซ้ายไม่เจอ ก็ต้องเลี้ยวขวา

โชคดีสุดท้ายนักประดาน้ำจากอังกฤษรับในช่วงนั้น และเจอ 13 คนอยู่ในถ้ำ สภาพอิดโรย น้องๆ อยู่ได้อย่างไร น้องๆ วิ่งลงมาหาเลย เป็นเรื่องน่าแปลกต้องซักถามกันต่อไปว่าทำตัวอย่างไร ส่งหน่วยซีล 4 คน คนหนึ่งคือ หมอภาคย์ มีขีดความสามารถด้านนี้ เข้าไปถึงตัวน้องๆ ต่อมาส่งไปอีก 3 คน สุดท้ายมี 4 คนอยู่กับน้องๆ น่าจะอยู่ได้เป็นเดือน ส่งข้าวส่งอาหาร ดูช่องทางอื่น เจาะภูเขาจะเป็นไปได้หรือไม่ แต่สุดท้ายเจอข้อจำกัด เรื่องอากาศในถ้ำน้อยลง ปริมาณออกซิเจนน้อยลง วันแรกที่ตรวจมีแค่ 15% วิตกกังวลมาก พยายามเติมออกซิเจน อีกอย่างคือ ปริมาณน้ำฝน ต้านทานไม่ได้จะทำอย่างไร หากน้ำเต็มถ้ำ 100% จะทำอย่างไร ถ้าออกซิเจนน้อยลง เด็กๆ จะต้องซึมลง ความหนาของหิน 500 เมตร เหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร ข้อจำกัดอยู่ที่ปัจจัยเวลา ทีมดำน้ำคุยกัน

สุดท้าย มีแผน และนักดำน้ำมืออาชีพของโลก รวมกันอยู่ในประเทศไทย จึงนำตัวน้องๆ ออกมาและได้รับการอนุมัติจาก ผบ.ศอร. และจากหน่วยเหนือ และนำออกมาได้ครบทั้ง 13 ชีวิต ภารกิจตรงนี้ถือว่ายากมาก ยากจริงๆ ไม่เคยเจอ เป็นบทเรียนที่จะพัฒนาบุคลากรเพิ่มไปอีก” ผู้บัญชาการซีล กล่าว

ขณะที่ นายณรงค์ศักดิ์ ผบ.ศอร. ได้กล่าวถึงความสำคัญของทีมสูบน้ำ ทั้งทีมสูบน้ำในถ้ำ และสูบข้างนอกถ้ำ โดยสามารถพร่องน้ำลงไปได้ประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยน้ำในถ้ำมีประมาณ 5 แสนลูกบาศก์เมตร ทว่าแต่ละวันมีน้ำเติมเข้ามาเนื่องจากฝนตกเฉลี่ยวันละ 2-3 หมื่นลูกบาศก์เมตร จึงเห็นว่าถ้ายังล่าช้าอีกวันสองวัน จะล่าช้ากว่านี้เยอะ ขณะที่อีกทีมที่อยู่บนยอดดอย เจอหลุมที่มีศักยภาพ 18 หลุม แต่หินหนา 500 เมตร จะเจาะได้อย่างไร ใช้เวลานานขนาดไหน อีกทั้งไม่รู้พิกัด จึงต้องปฏิบัติภารกิจในด้านการพาน้องๆ ดำน้ำออกมา.