เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561  ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายเวลาการลดอัตราภาษี มูลค่าเพิ่ม) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

นายณัฐพรกล่าวว่า ในปัจจุบันได้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี โดยให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 โดยกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวใกล้จะสิ้นสุดลง จึงอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมที่มีการลงทุนและการบริโภคในประเทศที่อยู่ในช่วงขยายตัวอย่างต่อเนื่องอาจมีการชะลอตัว ระดับราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ จะมีการปรับราคาสูงขึ้น ดังนั้น จึงเห็นควรกำหนดให้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562

นายณัฐพรกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับ ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้

1.ส่วนรายได้ของภาครัฐ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 258,500 ล้านบาท แต่จะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เนื่องจากในการจัดทำงบประมาณได้มีการคำนวณประมาณการรายได้ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานการคำนวณของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น)
2.ส่วนของประชาชน จะช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน
3. ส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน