เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

“น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 2561 มีมูลค่ากว่า 22,257 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่างๆ ทำให้มีกำลังซื้อดีขึ้น และไทยสามารถกระจายการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ ได้ ทั้ง ญี่ปุ่น ยุโรป จีน และอาเซียน

ซึ่งหากหักการส่งออกน้ำมันและทองคำออกการส่งออกของไทยก็ยังคงขยายตัวได้ถึง 8% โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ถึง 12.6% โดนสินค้ากลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่สินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวได้ 1.5% โดย ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ยังคงส่งออกได้ต่อเนื่อง

ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรก มีมูลค่ากว่า 104,031 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.6% สูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน นั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อการค้า และการส่งออกของไทยมากนัก และมั่นใจว่าในปีนี้จะผลักดันการส่งออกให้ขยายตัว ได้ถึง 8% อย่างแน่นอน เนื่องจากค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง ทำให้มีรายได้ในรูปเงินบาทมากขึ้น และจะมีการทบทวนการประมาณการส่งออกทั้งปีใหม่ ในเดือก.ค. อีกที เพราะการส่งออกขยายตัวดีกว่าคาด

แต่ยังต้องติดตามสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า นโยบายการค้าของสหรัฐ เพราะจะส่งผลต่อความผันผวนทางการค้า และอัตราแลกเปลี่ยนได้ และอาจมีผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ และการค้าโลกได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อไทยโดยตรง เพราะสหรัฐเองไม่ได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงต่อไทย และมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีระหว่างกันอยู่ แต่อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม เพราะมีรายการสินค้าส่งออกอยู่ในกลุ่มเดียวกับที่สหรัฐมีมาตรการกีดกันกับประเทศคู่ค้าบางประเทศ เช่น โซลาร์เซล เครื่องซักผ้า เหล็กอะลูมิเนียม เป็นต้น

ส่วนการนำเข้าเดือนพ.ค. ที่ผ่านมามีมูลค่า 21,053 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.6% จากการนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าทุนและวัตถุดิบ และไทยยังเกินดุลการค้ากว่า 1,203.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5 เดือนแรกไทยยังเกินดุลการค้ากว่า 1,877 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีและมีการกระจายตัวมากขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง แม้ในระยะสั้นอาจต้องเผชิญความผันผวนจากมาตรการการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีพื้นฐานการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มลดลงจะช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชนในอนาคต กลุ่มประเทศยูโรโซน มีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีน แนวโน้มยังไปได้ดีโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวสูงโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลดีต่อการส่งออกไทย

ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อยโดยตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันอาจพิจารณาปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันที่ลดลง อีกทั้งปริมาณน้ำมันของสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันให้สูงขึ้นในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตาม

สถานการณ์ค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงเป็นโอกาสดีต่อผู้ส่งออกในการเร่งผลักดันส่งออกสินค้าและทำให้รายได้การส่งออกในรูปเงินบาทสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์และทำประกันความเสี่ยงเพื่อรองรับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนและสถานการณ์การค้าที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา