เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 31 พ.ค.61 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร. พร้อมด้วยนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ เลขานุการ กรมศุลกากร นางสาวสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผลการตรวจสอบบริษัทที่นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังการตรวจค้นพบหลายบริษัททำผิดเงื่อนไข เช่น สำแดงสินค้าผิดประเภท

โดย พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการควบคุมนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยบูรณาการทำงานร่วมกัน 4 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมมลพิษ กรมศุลกากร กรมโรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานทั้งที่ อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา พบการกระทำความผิดหลายอย่าง ทั้งสำแดงสินค้าผิดประเภท และพบพิรุธในการเลี่ยงภาษี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตรวจสอบย้อนหลังว่ามีการจ่ายภาษีให้กับรัฐตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ หากพบก็จะดำเนินการโดยไม่มีข้อยกเว้น พร้อมกันนี้จะต้องตรวจสอบว่าการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดเงื่อนไข มีเจ้าหน้าที่คนใดรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ ถ้าหากพบก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขณะเดียวกันจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ เป็นการใช้บทหนัก ดำเนินคดีอาญามีโทษสูงสุด จำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะไม่ใช้การเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายของศุลกากรเหมือนที่ผ่านมา

ด้านนายบรรจง กล่าวว่า ขณะนี้มีคำเสนอให้พักใบอนุญาตโรงงานที่ลักลอบนำเข้าเผาหลอมทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผิดกฎหมายไปแล้ว 4 โรงงาน ส่วนอีก 2 โรงงานทำถูกกฎหมาย และเหลืออีก 1 โรงงาน ที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาจะหารือกับกรมศุลกากร ในเรื่องของเอกสารการแจ้งรายการนำเข้าว่า ชิ้นส่วนประเภทใดเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายตามกฎหมาย ซึ่งกรมโรงงาน จะส่งข้อมูลบริษัทที่มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ศุลกากรไปเฝ้าระวัง เพื่อให้ช่วยคัดกรองการลักลอบนำเข้า และป้องกันการสำแดงนำเข้าอันเป็นเท็จ

นายกรีชา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์ แต่ยอมรับว่ามีจำนวนตู้แต่ละวันจำนวนมากเกินกำลังเจ้าหน้าที่ จึงทำให้การตรวจสอบทุกตู้ทำได้ยาก และอาจส่งผลให้เกิดการล่าช้าในการขนส่งได้ ส่วนมาตรการจากนี้หากศุลกากร ตรวจสอบพบการลักลอบนำเข้า จะส่งดำเนินคดีทุกบริษัท โดยไม่ใช้การเปรียบเทียบปรับ ตามกฎหมายของศุลกากรเหมือนที่ผ่านมา

น.ส.สุณี กล่าวว่า จากนี้กรมควบคุมมลพิษจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อน เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบโดยเฉพาะแหล่งน้ำ ที่อยู่รอบๆโรงงานขยะดังกล่าวทั้งหมด ตลอดจนจุดเสี่ยงที่เป็นเป้าหมาย ว่าต้นตอเกิดจากโรงงานปล่อยสารพิษ สารอันตรายลงสู่แหล่งน้ำหรือไม่ หากพบว่าปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำ อันส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ จะประเมินมูลค่าความเสียหายและพิจารณาเอาผิดกับโรงงานดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายเพิ่มเติมต่อไป