เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อกลางปี 2022 ที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยได้ยินหนึ่งในเรื่องใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์ นั่นคือการทดลองของห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งในบอสตัน สหรัฐฯ ที่สามารถ “ย้อนวัย” ให้กับหนูทดลองได้สำเร็จ

ในการทดลองดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ได้ทำให้หนูทดลองที่แก่ ตาบอด และอวัยวะภายในเริ่มเสื่อม ให้กลับมามีสายตาปกติ สมองฉลาดขึ้น กล้ามเนื้อในร่างกายและเนื้อเยื่อไตกลับมาแข็งแรง

ขณะเดียวกัน พวกเขายังทดลองทำให้หนูที่อายุน้อยมีสภาวะที่แก่ก่อนวัยอันควร ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อเนื้อเยื่อเกือบทุกส่วนในร่างกายของพวกมัน

เดวิด ซินแคลร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านความชรา ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์จากสถาบัน Blavatnik แห่งโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้อำนวยการร่วมของ Paul F. Glenn Center กล่าวว่า “การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า ‘ความชราเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับได้’ เราสามารถเลื่อนมันไปข้างหน้าหรือย้อนมันกลับได้ตามต้องการ”

ซินอคลร์บอกว่า ที่ความชราสามารถถูกย้อนกลับได้นั้น เป็นเพราะร่างกายของเรามี “สำเนาตัวเราในวัยเยาว์” อยู่ และวิทยาศาสตร์สามารถกระตุ้นสำเนานั้นให้เกิดขึ้นใหม่ได้ ทำให้ร่างกายของเรากลับไปเป็นหนุ่มสาวได้อีกครั้ง

ล่าสุดซินแคลร์และทีมวิจัยได้ทำการอัปเดตการศึกษาเรื่องการย้อนวัยเพิ่มเติม โดยตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในวารสาร Cell และเพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา นำเสนอองค์ความรู้ที่ท้าทายความเชื่อทางวิทยาศาสตร์เดิมที่เชื่อว่า ความแก่ชราเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่ทำลายดีเอ็นเอของเรา ทำให้เกิด “ขยะเนื้อเยื่อเซลล์ที่เสียหาย” ซึ่งอาจนำไปสู่การเสื่อมสภาพของร่างกาย โรคภัย และความตาย

ซินแคลร์กล่าวว่า “มันไม่ใช่ขยะ ไม่ใช่ความเสียหายที่ทำให้เราแก่ … เราเชื่อว่ามันคือการสูญเสียข้อมูล การสูญเสียความสามารถของเซลล์ในการอ่านดีเอ็นเอดั้งเดิมของมัน ดังนั้นมันจึงลืมวิธีการทำงาน ในลักษณะเดียวกับที่คอมพิวเตอร์เครื่องเก่าอาจพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เสียหาย ผมเรียกมันว่า ‘ทฤษฎีสารสนเทศของความชรา’”

เขาบอกอีกว่า “การค้นพบที่น่าอัศจรรย์คือ จริง ๆ แล้วร่างกายเรามีสำเนาสำรองของซอฟต์แวร์ที่คุณสามารถ ‘รีเซต’ มันได้ … เรากำลังแสดงให้เห็นว่า เหตุใดซอฟต์แวร์จึงเสียหาย และเราจะรีบูตระบบได้อย่างไรโดยแตะที่สวิตช์รีเซต ซึ่งจะคืนค่าความสามารถของเซลล์ให้กลับมาเป็นเหมือนค่าเริ่มต้น ราวกับว่ามันยังเป็นเด็ก”

ถ้าเทียบกับคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือแล้ว มันก็เหมือนกับการตั้งค่าให้ร่างกายของเรากลับมาเป็นค่าตั้งต้น (Default) นั่นเอง

ซินแคลร์กล่าวว่า “ไม่สำคัญว่าร่างกายจะอายุ 50 หรือ 75 ปี สุขภาพดีหรือทรุดโทรมด้วยโรค เมื่อกระบวนการดังกล่าวถูกกระตุ้น ร่างกายจะจดจำวิธีการสร้างใหม่และจะกลับเป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง แม้ว่าคุณจะแก่แล้วและมีอาการเจ็บป่วยก็ตาม”

ด้าน ยัง แจ-ฮยุน นักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ในห้องปฏบิติการซินแคลร์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า เขาคาดหวังว่าผลการวิจัยนี้ “จะเปลี่ยนวิธีที่เรามองกระบวนการความแก่ชราและอาจทำให้เราเข้าใกล้การรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความชราได้”

นักวิจัยระบุว่า เรื่องของความชรานั้นไม่ได้เกิดจากดีเอ็นเอ แต่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า “เอพิจีโนม (Epigenome)” หรือโปรตีนและสารเคมีที่อยู่บนยีนของเรา

เอพิจีโนมนี้เป็นเหมือนกับคนเขียนบทที่จะคอยสั่งยีนว่า “ต้องทำอะไร ควรทำที่ไหน และเมื่อไหร่ควรทำ” ซึ่งเอพิจีโนมนี้เองที่คอยสั่งการให้เซลล์ร่างกายของเราสูญเสียข้อมูล ลืมวิธีทำงาน “ลืมความเยาว์วัย” ทำให้ร่างกายของเราแก่ชราลง ดังนั้น หากเราควบคุมเอพิจีโนมได้ เราก็ควบคุมความแก่ชราได้

ซินแคลร์เสริมว่า กระบวนการที่เอพิจีโนมสั่งให้เซลล์ร่างกายลืมความเยาว์วัยนั้นนอกจากกาลเวลาตามปกติแล้ว มันอาจถูกกระตุ้นโดยมลพิษ สารพิษในสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดี หรือการอดนอน

“สิ่งกระตุ้นเหล่านี้ทำให้เกิดการตื่นตระหนกของเซลล์และโปรตีนที่ปกติจะควบคุมยีน พวกมันจะถูกรบกวนโดยต้องไปซ่อมแซมดีเอ็นเอส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เสียหายไปเพราะสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ … เมื่อซ่อมเสร็จแล้วพวกมันก็เหมือนหาทางกลับไปที่จุดเริ่มต้นไม่ได้” ซินแคลร์อธิบาย

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชิ้นส่วนเซลล์ที่ถูกส่งไปซ่อมแซมความเสียหายของร่างกายเกิด “หลงทาง” และกลับบ้านไม่ถูก ทำให้ร่างกายสูญเสียความเยาว์วัยไป

ในกระบวนการย้อนวัยของหนูทดลองนั้น หลู หยวนเฉิง นักพันธุศาสตร์จากห้องปฏิบัติการซินแคลร์ ได้สร้างสารประกอบขึ้นมาจาก 3 ใน 4 ของยีน “Yamanaka Factor” ซึ่งเป็นเซลล์ที่ได้รับการโปรแกรมใหม่ให้มีพฤติกรรมเหมือนเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) จากตัวอ่อนหรือเซลล์ต้นกำเนิดหลายเซลล์ที่สามารถพัฒนาเป็นเซลล์ใดก็ได้ในร่างกาย

สารประกอบดังกล่าวถูกฉีดเข้าไปในเซลล์ปมประสาทเรตินาที่เสียหายที่ด้านหลังดวงตาของหนูที่ตาบอด และทำให้มันทำงานโดยการให้ยาปฏิชีวนะแก่หนู

“ยาปฏิชีวนะเป็นเพียงเครื่องมือ อาจเป็นสารเคมีอะไรก็ได้จริง ๆ เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้แน่ใจว่ายีนทั้งสามเปิดอยู่ … โดยปกติแล้วพวกมันจะเติบโตในตัวอ่อนที่อายุยังน้อยเท่านั้น ซึ่งกำลังพัฒนาตัวอ่อน และจะดับลงเมื่อเราอายุมากขึ้น” ซินแคลร์บอก

ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ หนูกลับมามองเห็นได้เกือบทั้งหมด ต่อจากนั้น ทีมวิจัยได้ทำแบบเดียวกันกับเซลล์สมอง กล้ามเนื้อ และไต และฟื้นฟูเซลล์เหล่านั้นให้อยู่ในระดับที่อ่อนกว่าวัยมากได้สำเร็จเช่นกัน

“หนึ่งในความก้าวหน้าของเราคือ การตระหนักว่าหากคุณใช้ชุดเซลล์ต้นกำเนิดหลายกลุ่มที่มีศักยภาพ 3 ชุด อายุของหนูจะไม่กลับไปเป็นศูนย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดมะเร็งหรือแย่กว่านั้น … ในทางกลับกัน จากวิธีการนี้ เซลล์จะกลับไปอยู่ที่ระหว่าง 50% ถึง 75% ของอายุเดิม” ซินแคลร์กล่าว

ปัจจุบัน ทีมงานของซินแคลร์กำลังพยายามหาวิธีที่จะกระตุ้นให้ทุกเซลล์ในร่างกายของหนูย้อนวัยในทีเดียวโดยไม่ต้องคอยกระตุ้นทีละส่วน

ซินแคลร์บอกว่า ในห้องปฏิบัติการของเขา ทีมวิจัยของเขาได้รีเซตเซลล์ในหนูทดลองตัวเดิมหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความชราสามารถย้อนกลับได้มากกว่าหนึ่งครั้ง และเขากำลังทดสอบการรีเซตความชรานี้ในสัตว์ทดลองกลุ่มไพรเมต (ลิง) แต่คาดว่าอาจใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าที่การทดลองย้อนวัยในมนุษย์จะสามารถทำได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตปท.ปิดกั้น หนูยันอ้าแขนรับจีน ไม่หวั่นโควิดสายพันธุ์ใหม่…

อึ้งไม่หาย สาวเดินมาเจอกองทัพหนูท่อนับร้อยขวางทาง จนไม่กล้าไปต่อ