เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นายกิตติชาติ ชาติยานนท์ เกษตรจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายหลังจากที่เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา คือ วันที่ 14-15 เมษายน 2561 ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตรประสบเหตุวาตภัยที่มีทั้งลมพายุและฝนฟ้าคะนอง ส่งผลให้บ้านเรือนรวมถึงพื้นที่ทำการเกษตรและผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายในพื้นที่ 7 อำเภอ ซึ่ง นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ต้องประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ล่าสุด นายกิตติชาติ เกษตรจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่ไปยังเขต ต.แหลมรัง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร เพื่อสำรวจความเสียหายทางด้านการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เกษตรกรส่วนใหญ่จะลดพื้นที่การทำนาแล้วปรับเปลี่ยนมาปลูกกล้วยและพืชหลากหลาย โดยได้เดินทางไปดูแปลงปลูกกล้วยน้ำว้า ของ นายยอด บรรเทา อายุ 51 ปี ชาวบ้านสุขเกษม ต.แหลมรัง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ( รุ่น 55 ) และหันมาปลูกกล้วยน้ำว้าบนที่ดิน 42 ไร่ ซึ่งกล้วยน้ำว้าที่ปลูกมีอายุ 3-4 ปี ที่ผ่านมาสามารถตัดผลิตขายมีรายได้ถึงเดือนละ 50,000 บาท และวันที่ 19 เมษายน 2561 ก็จะตัดผลผลิตกล้วยน้ำว้าในแปลงที่ปลูกนี้ส่งขายให้กับโรงงานกล้วยตากบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก แต่ก็ต้องมาเจอกับพายุฤดูร้อนที่พัดทำลายต้นกล้วยน้ำว้าที่กำลังออกผลออกเครือเสียหายยับเยินทำเอา นายยอด เกษตรกรหัวก้าวหน้าบัณฑิตหนุ่มจากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้เชียงใหม่ถึงกับน้ำตาซึม พูดได้คำเดียวว่า “ผมหมดตัวแล้วครับ” นายยอดเล่าให้ฟังว่าเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา เกิดพายุฤดูร้อนเป็นลมพายุหมุนพัดผ่านในหมู่บ้าน บ้านเรือนของเพื่อนบ้านเสียหายเป็นร้อยหลังคาเรือนพื้นที่ปลุกกล้วยน้ำว้าทั้งของตนเองและของเพื่อนบ้านตอนนี้นับรวมแล้วกว่า 500 ไร่ เสียหายแบบ 100% เป็นที่น่าเสียดาย เนื่องจากขณะนี้ราคากล้วยน้ำว้าที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 6 บาท กำลังขยับราคาขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 8-10 บาท ยอมรับว่าเจอพายุฤดูร้อนครั้งนี้ทำเอาหมดเนื้อหมดตัวแต่ยังมีกำลังใจจะขอฮึดสู้อีกครั้ง

โดยจะขอปรับพื้นที่ปลูกพืชหลากหลายและจะต้องใช้ความรู้ที่เรียนมานำมาประยุกต์ใช้กับอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้า โดยจะหาวิธีปลูกพืชเพื่อเป็นเกราะป้องกันลม WindBrake เช่น ปลูกไผ่ หรือต้นสน แต่สิ่งที่อยากวิงวอนคืออยากให้รัฐบาลช่วยเหลือและอยากขอร้องให้ ธกส.ช่วยลดดอกเบี้ย หรือ ระงับการคิดดอกเบี้ย รวมถึงอย่าเร่งรัดการชำระหนี้
เช่นเดียวกับ น.ส.อรพิน คำอ่อน อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 487/1 หมู่ 7 บ้านสุขเกษม ต. แหลมรัง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ซึ่งเป็น Young Smart Farmer หรือเกษตรกรรุ่นใหม่หัวไวใจสู้ ที่เลิกทำนาข้าวตามนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้ปลูกพืชหลากหลายจึงไปกู้เงิน ธกส.มา 5 แสนบาท ทำโรงเรือนปลูกเมล่อน 7 หลัง ปลูกกล้วยไข่ 3 ไร่ ปลูกแตงโม 1 ไร่ ปลูกดอกดาวเรืองในโรงเรือน 2 โรง กำลังมีรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท ในคราวนี้เจอพายุฤดูร้อนพัดถล่มทุกอย่างพังราบเป็นหน้ากองเสียหายสิ้นเนื้อประดาตัวด้วยเช่นกันทำได้แค่เพียงยิ้มสู้และวอนให้ภาครัฐรวมถึงเจ้าหนี้ คือ ธกส.ช่วยผ่อนผันหรือผ่อนปรนเรื่องดอกเบี้ยและหนี้สินให้ด้วย ดังนั้นจึงนับได้ว่าพายุฤดูร้อนหรือ วาตภัย ที่เกิดขึ้นในช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมาถือเป็นความโหดร้ายทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ที่มนุษย์ยากที่จะต่อสู้หรือป้องกันดังกล่าวอีกด้วย