เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

กรมปศุสัตว์ประกาศพื้นที่โรคระบาดพิษสุนัขบ้าชั่วคราว 30 วัน หรือพื้นที่สีแดง ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมถึง 4 เมษายน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, สุรินทร์, ชลบุรี, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, ร้อยเอ็ด, สงขลา, ระยอง, ตาก, ศรีสะเกษ, ตรัง และสระแก้ว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง หรือพื้นที่สีเหลืองมากกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ

โดยปี 2561 นี้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 ราย ที่จังหวัดสุรินทร์ สงขลา และตรัง โดยทั้ง 3 รายถูกสุนัขกัดและไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต่อมาอาการรุนแรงขึ้นและเสียชีวิตในที่สุด และใน 2 เดือนแรกของปีนี้มีสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าที่ตรวจพบแล้ว 315 ตัว มากกว่าปีที่ผ่านมาเป็นเท่าตัว โดยพบในสุนัขมากกว่า 90% รองลงมาเป็นแมวและวัวตามลำดับ

นอกจากนี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำกรณีถูกสัตว์ข่วนหรือกัดโดยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ควรรีบปฐมพยาบาลและปฏิบัติตัวดังนี้

1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมใดๆ ทา ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น

2. เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน นอกจากนี้ไม่ควรปิดปากแผล ยกเว้นว่าเลือดออกมากหรือแผลใหญ่มาก

3. ไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันที หรือเร็วที่สุด เพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ รวมถึงวัคซีนตามความเหมาะสม

4. กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้ายกัดคน หรือสัตว์อื่น หรือไม่สามารถกักสัตว์ไว้ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า

5. หากสัตว์มีอาการปกติตลอดระยะเวลาที่กักเพื่อดูอาการ สามารถหยุดฉีดวัคซีนได้