เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

มีกรณีสะเทือนใจ ชายวัย 45 ปี อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด นอนรอคิวเพื่อไปตรวจเชื้อ จนเสียชีวิตในคอนโดในซอยจรัญสนิทวงศ์ 37

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รร.ดังหาดใหญ่เปิดไฟเป็นรูปหัวใจให้คนไทยฝ่าวิกฤตโควิด

สถานการณ์โควิดวันนี้ 27 เม.ย. 64 ยอดผู้เสียชีวิตยังพุ่งทำลายสถิติดับอีก 15 ศพ

จากการตรวจสอบพบว่า ตรวจครั้งแรกไม่เจอเชื้อและมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไปตรวจเชื้อที่รพ.ตามสิทธิประกันสังคม แต่คิวเต็มรับแค่ 20 คน/วัน แม้ไปตั้งแต่ตีห้า ก็ไม่ได้คิว สุดท้ายลงจองคิวตรวจกับกระทรวงแรงงาน ได้คิวตรวจเชื้อวันนี้ 27 เม.ย. แต่เจ้าตัวก็มาเสียชีวิตก่อน

ที่ผ่านมาผู้ป่วยโทรสายด่วน 1669 แจ้งอาการเอง และหายใจไม่ทัน ตั้งแต่วันที่ 24 แต่ไร้การช่วยเหลือ จนเช้า 26 จนท.ติดต่อไปไม่มีใครรับสาย จึงออกไปที่คอนโดที่ให้ข้อมูลไว้ แต่ไม่ทันแล้ว ผู้ป่วยหายใจรวยริน ปั๊มหัวใจ แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้

เมื่อเสียชีวิตและคาดว่าจะเป็นผู้ป่วยโควิด ทำให้ไร้การดูแล ไร้ญาติ และการช่วยเหลือ ศพถูกปล่อยทิ้งในห้อง 8 ชม. ทีมข่าวประสานขอความช่วยเหลือทั้งตำรวจ รพ. มูลนิธิ และหาเบอร์ญาติ จนพบ และช่วยกันนำศพไปบำเพ็ญกุศลและเผาทันที

ด้านเพื่อนสนิทเล่าว่า ผู้ตายมีอาการป่วยเหมือนโควิด และกักตัวเมื่อคืน 25 เม.ย. แจ้งว่าไม่ไหวหายใจไม่ได้ และอ่อนเพลียมาก ญาติที่ กทม.ก็ติดต่อไม่ได้ ญาติต่างจังหวัดประสานงาน จนท.แจ้งกลับว่าต้องให้ผู้ป่วยโทรเอง ทางนิติคอนโด และญาติที่ต่างจังหวัดช่วยประสานงาน นาทีก่อนตายผู้ป่วยยังบอกว่า จะรอไปตรวจเชื้อ จะอดทน จะสู้

ขณะที่นิติคอนโดเล่าเหตุสะเทือนใจ ทุกคนช่วยกันประสานงานตามเบอร์ของรัฐ แต่ไร้การตอบรับ บอกว่าจะคุยกับผู้ป่วย และจะติดต่อกลับ แต่ผู้ป่วยอาการหนักแล้ว หากมาช่วยทันเวลา อาจจะไม่ต้องตาย เมื่อเสียชีวิตแล้วก็ไม่มีใครมาเก็บศพ เพราะทุกคนต่างหวาดกลัวว่าจะติดเชื้อ

ด้านญาติร่ำไห้เพื่อขอรับศพ เผยขาดการติดต่อกับน้องชายปีที่แล้ว ทั้งนี้ปกติน้องชายไม่มีโรคประจำตัวแข็งแรงและชอบออกกำลังกาย หากน้องได้รับความช่วยเหลือคงไม่ตาย ทำไมต้องปล่อยให้คนป่วยรอจนตาย กรณีอาม่าก็ครั้งหนึ่งแล้ว น้องชายต้องมานอนรอการรักษาจนตายอีกคน ภาครัฐทำอะไร ขอร้องให้เป็นศพสุดท้าย

ในเวลาต่อมากู้ภัยมาช่วยรับศพ โดยหามศพลงจากชั้น 6 อย่างทุลักทุเล ต้องสวมชุดพีพีอีป้องกันทุกขั้นตอน ญาตินำศพไปฌาปนกิจศพทันที ด้านแพทย์ชันสูตรเข้าตรวจสอบ แต่ได้แค่มองอยู่หน้าห้อง และประเมินมีความเสี่ยงสูงติดเชื้อโควิด แต่ระบุในใบชันสูตร ว่าระบบหายใจล้มเหลว และไม่สามารถนำไปตรวจหาเชื้อโควิดได้

ด้าน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงการบริการจัดการเตียงผู้ป่วย ซึ่งมีการเพิ่มคู่สายของสายด่วนต่างๆ จะทำให้การจัดหาเตียง การพาผู้ป่วย เข้าสู่ระบบการดูแลที่เหมาะสมเร็ว และยังรักษามาตรฐาน เพราะไม่สามารถจัดหาให้ไปที่ไหนก่อนก็ได้ เพราะอาจจะเกิดความเสี่ยงภายหลัง

โดยระบุว่า “การโทรศัพท์สายด่วน 1668, 1669, 1330 ขอความกรุณาท่านว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง หมดกำลังใจ โทรไม่ติด ท่านยังมีสื่อมวลชน มีเพื่อนฝูงพี่น้องที่เป็นกระบอกเสียงได้ การที่ยังโทรไม่ติด ยังรอเตียงอยู่ ระบบเพิ่มเตียงยังไม่ได้ อันนี้ไม่มีใครนิ่งนอนใจเลย แต่ว่าอยากให้เห็นภาพว่าการจัดการเตียงนั้นมีความยากลำบาก”