เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

“ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค” ผนึกความร่วมมือพันธมิตรเครือข่าย จัดพิธีลงนามขยาย “พื้นที่การเรียนรู้ด้านสุขภาวะ” เต็ม ๑๓ เขตสุขภาพเพื่อประชาชน หนุนศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาส่งมอบประสบการณ์เรียนรู้ด้านสุขภาวะสู่ประชาชนในพื้นที่ สร้างจุดเปลี่ยนในการดูแลสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้

เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ “ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.)” จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาและขยายผลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ประจำปี ๒๕๖๓ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ นำทีมโดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากพันธมิตรเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จำนวน ๔ แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพิษณุโลก ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสมุทรสาคร ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอุบลราชธานี ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา ภายใต้บรรยากาศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขของผู้ร่วมงาน

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค เป็นความร่วมมือสำคัญที่เกิดการสานพลังเชิงนโยบายและการดำเนินงานเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้และบริการที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เป็น“แหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านสุขภาวะที่มีชีวิต” ช่วยกระตุ้นความคิด สร้างการเรียนรู้และการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านสุขภาพที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบนิทรรศการ กิจกรรมการเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่มาจากการบูรณาการความร่วมมือของ สสส. กับพื้นที่พันธมิตรเครือข่ายที่มีศักยภาพและความพร้อม ร่วมกันบริหารจัดการสื่อความรู้ พัฒนากิจกรรมและการบริการที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย ให้ประชาชนในภูมิภาคเกิดความตระหนักในการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเองและบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแท้จริง เพื่อสร้างสังคมสุขภาพดีไปด้วยกัน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำแนวทางการทำงานสร้างเสริมสุขภาพให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะการดำเนินงานสานพลังร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายต่างๆ ผ่านนวัตกรรมความคิดและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โดยใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลังในการขับเคลื่อนนับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ การดำเนินงานศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ทำให้ สสส. เกิดเครือข่ายที่สามารถบูณาการความรู้สุขภาพให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายกว่าเดิม ทั้งเครือข่ายองค์กรด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา และด้านการบริการสังคม มาร่วมใช้ศักยภาพให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ผ่านการใช้องค์ความรู้สุขภาวะเป็นฐาน และเปิดโอกาสการเข้าถึงข้อมูลความรู้สุขภาพที่ถูกต้อง โดยเฉพาะศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาซึ่งเป็นเพื่อนร่วมทางที่เข้มแข็ง ร่วมขับเคลื่อนเปิดพื้นที่ให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาคมาแล้วหลายแห่ง ด้วยการทำงานเชิงรุก ส่งความรู้สู่นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ที่ผ่านมาสามารถขยายผลองค์ความรู้สุขภาวะไปสู่ผู้รับประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 3,000,000 คน และส่งเสริมให้ประชาชนที่ได้รับบริการกว่า 90 % เกิดความเข้าใจและแนวคิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับบุคคลทั้งทางด้านพฤติกรรม วิถีชีวิต รวมถึงสังคมและสภาพแวดล้อม

สิ่งสำคัญคือศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาคยังเป็นสะพานเชื่อมร้อยเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ให้มาร่วมสร้างการเรียนรู้และต่อยอดการทำงานร่วมกัน เกิดการส่งต่อความรู้สู่ชุมชนในทุกระดับ ผ่านผู้นำการเปลี่ยน หรือ Chang Agent ในรูปแบบ “นักสร้างเสริมการเรียนรู้ด้านสุขภาวะ” ที่มีศักยภาพการถ่ายทอดและออกแบบกิจกรรมสร้างเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนได้ทันสถานการณ์ทุกรูปแบบ เช่น เกิดกิจรรมบูรณาการวิทยาศาสตร์สุขภาวะ ในช่วงสถานการณ์โควิดทั้งทาง On line และ Off line เพื่อส่งตรงความรู้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตอบรับกับเหตุการณ์ในขณะนั้น

คุณเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการและรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) กล่าวถึงการดำเนินโครงการในปี 2563 ว่า แม้“ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค” จะเริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ภายใต้แนวคิด “จุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลัง บุคคลและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ” ด้วยความมุ่งหวังเพื่อขยายผลการสร้าง การเรียนรู้และประสบการณ์สุขภาวะในรูปแบบพื้นที่เรียนรู้แบบศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ที่ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ สู่ประชาชนในภูมิภาค แต่เพราะการสร้างเสริมสุขภาพไม่ใช่การตัดเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่สามารถใช้รูปแบบและกระบวนการเพียงรูปแบบเดียวในการทำงาน เพื่อตอบสนองประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ต่างมีบริบทแวดล้อม ความต้องการ และปัญหาสุขภาวะที่แตกต่างกัน นำมาสู่แนวคิดการหาพันธมิตรเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ที่มีเป้าหมายร่วมกัน มาผนึกกำลังร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมลงแรง และแบ่งปันทรัพยากร เพื่อสร้างการเรียนรู้ด้านสุขภาวะที่เหมาะสม ให้เด็ก เยาวชน ครอบครัวและชุมชนร่วมกัน จากจุดเริ่มต้นจาก สสส. ที่ซอยงามดูพลีแห่งเดียว ในปี 2558 เป็นต้นมาได้ร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายสุขภาวะขยายผลมาต่อเนื่องเป็น ๑๔ แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาล จำนวน 1 แห่ง ห้องสมุดสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน ๔ แห่ง และ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จำนวน ๙ แห่ง และในปี ๒๕๖๓ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาคได้ขยายเป็น ๑๘ แห่งทั่วประเทศไทยจาก ความร่วมมือในวันนี้ ครอบคลุม ๑๓ เขตพื้นที่สุขภาพเพื่อประชาชน พร้อมส่งแรงกระตุ้นและแนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี ที่ปฏิบัติได้ง่าย เกิดความรู้ในการดูแลป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพได้อย่างรอบด้าน

ทั้งนี้ การจัดพิธีลงนามความร่วมมือ “ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค” ๒๕๖๓ ยังเป็นการส่ง “สัญญาณสุขภาวะ” ที่ต่อเนื่องสู่ประชาชนและองค์กรต่างๆ ให้ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมต่อความท้าทายของสถานการณ์สุขภาพและโรคระบาดที่อาจอยู่คู่สังคมโลกไปอีกยาวนาน การเสริมศักยภาพให้ประชาชนมีความเข้าใจและความรอบรู้ด้านสุขภาพเป็นการสร้างรากฐานของคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน เมื่อทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม สามารถดูแลและปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการสร้างสุขภาพให้แข็งแรง จะสามารถดำเนินชีวิตได้ดีในทุกสถานการณ์ เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมสุขภาวะ ที่สามารถส่งต่อ และขยายผลสู่สังคมวงกว้างได้อีกต่อไป

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค
ติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ ๐๒-๓๔๓-๑๕๐๐ Line ID : thaihealth_center www.facebook.com/thaihealthcenter.org เปิดบริการวันจันทร์ – วันเสาร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.