เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เนื่องในวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคต ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

กว่า 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงครองราชย์ พระองค์ได้ทรงงานและบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ รวมทั้งทรงก่อตั้งโครงการต่างๆ มากมาย ทั้งยังทรงเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจแก่พสกนิกรชาวไทยมาอย่างยาวนาน

แม้ในช่วงพระชนมายุกว่า 60 พรรษา พระองค์ก็ยังคงทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งที่เป็นวัยซึ่งคนส่วนใหญ่เกษียณอายุจากการทำงานแล้ว

เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต จึงขอรวบรวมพระราชกรณียกิจและโครงการต่างๆ ที่ทรงทำในช่วงปลายพระชนม์ชีพ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์ในฐานะทรงเป็นแบบอย่างแก่พวกเราทุกคนมา ณ ที่นี้

จากปัญหาน้ำเน่าเสีย มลพิษทางน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทอดพระเนตรเห็น และมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียนี้ จึงได้มีการประดิษฐ์เครื่องเติมอากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ซึ่งจะเป็นตัวต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ในการพัฒนาเพื่อแก้มลพิษทางน้ำและบำบัดน้ำเสีย โดยมีการสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2532

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาจัดทำโครงการฝนหลวง เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวัน ตลอดจนไม่มีน้ำในการทำการเกษตร จึงได้ทรงคิดค้นวิธีการที่จะทำให้ฝนตกนอกฤดูกาล โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้เกิดสายฝนให้แก่พสกนิกรชาวไทย

ในช่วงพระชนมายุ 63 พรรษา ทรงมีพระราชดำริให้มีการศึกษาและวิจัยพัฒนาสิ่งแวดล้อม โครงการแหลมผักเบี้ย ซึ่งเป็นโครงการที่ดูแลและแก้ไขปัญหาในเรื่องของการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียในท้องถิ่น โดยพระองค์ทรงมีพระแสรับสั่งและทรงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชน จนทำให้ชุมชนในจังหวัดเพชรบุรีจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดนราธิวาส ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าพื้นที่ส่วนมากเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำการเกษตรไม่ค่อยได้ จึงทรงมีพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวด้วยการ ‘แกล้งดิน’ คือขังน้ำไว้ในพื้นที่ก่อน จนเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ส่งผลให้ดินเปรี้ยวจัด แล้วค่อยระบายน้ำออก เมื่อระบายน้ำออกแล้ว ให้นำปูนขาวมาปรับสภาพดิน เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้ดินในการเพาะปลูกได้

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายพื้นที่สามารถปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้ง และปลูกพืชได้ชนิดเดียว บางปีก็แห้งแล้งมาก จึงทรงมีพระราชดำริแนวคิด ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ โดยทรงให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตรา 30-30-30-10 เพื่อขุดเป็นสระกักเก็บน้ำ 30% ปลูกข้าวในฤดูฝน 30% ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร 30% และเป็นที่อยู่อาศัยอีก 10% ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากพื้นที่ซึ่งได้รับการจัดสรรอย่างเป็นประโยชน์

พระราชกรณียกิจข้างต้น ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยนิด เมื่อเทียบกับสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงทำเพื่อพสกนิกรชาวไทยมาตลอดพระชนม์ชีพ แต่แม้จะทรงงานหนักมาอย่างยาวนานเพียงใดก็ตาม ก็ยังทรงมีพระราชดำรัสกับดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เรื่องการเกษียณอายุการทำงานของพระองค์ แม้ในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 72 พรรษาก็ตาม ได้ทรงรับสั่งว่า

“หากทำงานไม่สนุกก็จะเบื่อ จึงต้องสนุกตลอดเวลา โดยยึดหลัก ร่าเริง รื่นเริง คึกคัก ครึกครื้น”

ที่มา – younghappy