เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำโดย ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว ดร. วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงานเพื่อความยั่งยืน และ ประมณฑ์ กาญจนพิมลกุล นักวิจัยด้านนโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว เผยผลวิจัยเรื่องปริมาณขยะเดลิเวอรี่ในช่วงโควิด-19 ระบุว่า การที่ประชาชนต้องทำงานอยู่บ้านมากขึ้นส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นจากผู้ให้บริการต่างๆ อาทิ LINEMAN, GRAB FOOD, GET, FOOD PANDA เป็นต้น

ในมุมของประชาชนในฐานะผู้บริโภค การสั่งอาหารผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรี่เปิดโอกาสให้สามารถเลือกบริการที่ดีที่สุด ราคาที่สบายกระเป๋ามากที่สุด และยังมีโอกาสเข้าถึงร้านอาหารใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ลิ้มลอง ในขณะเดียวกันธุรกิจร้านอาหารต่างๆ ก็มีช่องทางขายมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไปจากการมาตรการของภาครัฐที่ไม่อนุญาตให้นั่งทานอาหารที่ร้าน

ในช่วงปี 2562 ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่มีมูลค่าสูงถึง 3.3-3.5 หมื่นล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 2562) จากยอดสั่งซื้อ 20 ล้านออเดอร์ ซึ่งก่อให้เกิดขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกสูงถึง 140 ล้านชิ้น

โดยประมาณการจากข้อมูลที่ระบุว่า การสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แต่ละครั้งสร้างขยะ 7 ชิ้น ได้แก่ กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหารทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีการคาดว่าปริมาณขยะเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นเท่าตัว (วิจารย์ สิมาฉายา 2563) ซึ่งหมายความว่าในช่วงโควิด-19 คาดว่าขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่มีปริมาณสูงถึง 280 ล้านชิ้น

คนไทยทิ้งขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่แบบไม่มีการคัดแยก

ปัญหาสำคัญที่เกิดจากขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่เหล่านี้คือประชาชนส่วนใหญ่ทิ้งเศษอาหารปะปนมากับขยะพลาสติก ไม่มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดมาจากหลายปัจจัย เช่น การขาดความตระหนักรู้ว่าควรคัดแยกอย่างไร การนิยมความสะดวกสบายจากการที่ไม่ต้องเก็บล้าง และความกังวลว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หากไปสัมผัสภาชนะหรือช้อนส้อมของผู้ที่ติดเชื้อ เป็นต้น เนื่องด้วยขยะพลาสติกเหล่านี้ปนเปื้อนเศษอาหาร จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิล แปรรูปเป็นพลังงาน หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า (Upcycle) ตามแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องนำขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนเหล่านี้ไปกำจัดโดยการเทกองหรือฝังกลบเช่นที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มภาระให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขยะเหล่านี้หากจัดการไม่ถูกต้อง อาจรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ทะเล ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินโครงการหรือ Initiative ต่างๆ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต้องเดินถอยหลัง

สิงคโปร์และเกาหลีใต้ส่งเสริมการลดขยะพลาสติกจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่

เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ Food Panda ซึ่งเป็นผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศสิงคโปร์เริ่มงดให้บริการชุดช้อนส้อมพลาสติกตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งสามารถช่วยลดขยะที่เกิดจากช้อนและส้อมพลาสติกได้ถึง 250,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าถึง 100,000 ดอลล่าร์สิงคโปร์

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ ภาครัฐมีนโยบายด้านการจัดการขยะจากบริการฟู้ดเดลิเวอรี่อย่างเข้มข้น โดยผลักดันให้เกิดการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาลเกาหลีใต้ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและร้านอาหารที่เข้าร่วมในเครือข่ายฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยงดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ซ้อนกันสองชั้น งดให้บริการช้อนและส้อมพลาสติก ใช้กล่องกระดาษในการบรรจุอาหารแทนกล่องพลาสติก ใช้ถุงเก็บความเย็นที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนชาวเกาหลีใต้คัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี

ฟู้ดเดลิเวอรี่และร้านอาหารไทยช่วยลดขยะพลาสติก

ผู้ประกอบการฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทย เช่น Grab Food ได้ช่วยลดขยะพลาสติกโดยเพิ่มตัวเลือก (Feature) ในแอปพลิเคชันของ Grab ให้ลูกค้าสามารถกดเลือกรับหรือไม่รับช้อน ส้อม และมีดพลาสติกเมื่อสั่งอาหาร รวมถึงส่งเสริมให้ร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษเพื่อทดแทนถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

นอกจากนี้ LINE MAN ประเทศไทยได้ประกาศร่วมรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในการส่งอาหารร่วมกับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารดัง โดยพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีตัวเลือกสำหรับไม่รับช้อนส้อมพลาสติกหรือถุงพลาสติก ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนสิงหาคม 2563

สำหรับแนวทางของธุรกิจร้านอาหาร ร้านอาหารในเครือฟู้ดแพชชั่น ซึ่งประกอบด้วย แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซ่บฮัท ฌานา สเปซคิว และเรดซัน ได้นำเอาแนวคิด Wasteless Delivery มาใช้ในการให้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน โดยเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้จากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) เป็นภาชนะแบบย่อยสลายได้ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อยซึ่งสามารถย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน และถุงพลาสติกคุณภาพสูงพิเศษที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลที่มีความหนาถึง 5 เท่า ในการให้บริการจัดส่งอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำถุงพลาสติกมาหมุนเวียนใช้ซ้ำได้มากกว่า 20 ครั้ง

โดยการดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ 1.2 ล้านชิ้นในปี 2563

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญคือการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับการทิ้งภาชนะหลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จแล้ว โดยผู้บริโภคไม่ควรทิ้งภาชนะเหล่านี้ปะปนกับเศษอาหารและไม่ควรใส่ภาชนะเหล่านี้ในถุงพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้เมื่อนำไปทิ้ง เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการจัดการภาชนะที่ใช้แล้วเหล่านี้

ที่มา – BLT BANGKOK