เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 เว็บไซต์บิซเนซอินไซเดอร์ และนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนเผยรายงานการวิเคราะห์เคสผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 ครั้งที่ใหญ่ที่สุด จากผู้ที่รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากกว่า 44,000 ราย ในประเทศจีน พบว่า ผู้ชายมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าผู้หญิง ในสัดส่วนที่ต่างกันไม่มาก แต่เมื่อพิจารณาถึงอัตราการเสียชีวิต พบว่า ผู้ชายมีแนวโน้มเสียชีวิตจาก โควิด-19 มากกว่าผู้หญิง คิดเป็น 2.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ 1.7 เปอร์เซ็นต์

 นอกจากนี้ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารอายุรศาสตร์ Annals of Internal Medicine ชี้ว่า ในการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) และเมอร์ส (MERS) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา ผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง โดยเมื่อปี2546 ในการระบาดของซาร์สที่ฮ่องกง พบว่า ผู้ชายเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากโรค (MERS) พบว่า ผู้ชายเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิงเช่นกัน คิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ เทีบเทียบกับผู้หญิงอยู่ที่ 25.8 เปอร์เซ็นต์ 

ภาพจาก STR / AFP

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจส่งผลให้ผู้ชายได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาจนเสียชีวิต ได้มากกว่าผู้หญิงซึ่งรวมทั้งปัจจัยทางด้านชีวภาพ และพื้นฐานในการดำรงชีวิต จากการทดลองนักวิจัยพบว่า หนูเพศผู้ มีความไวต่อเชื้อไวรัสมากกว่าหนูเพศเมีย เชื่อว่าเป็นผลมาจากยีนบนโครโมโซม X ในเพศหญิง และฮอร์โมนอื่น เช่นฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ช่วยไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายไปทั่วร่างกายผู้หญิง หรืออาจเรียกได้ว่า ผู้ชายเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า 

ซาบรา ไคล์น นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาความแตกต่างทางเพศในการติดเชื้อไวรัส และการตอบสนองการฉีดวัคซีน จากสถาบันสาธารณสุข Johns Hopkins Bloomberg ในสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อสมมุติฐานดังกล่าวเห็นได้จากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ในผู้ชายมักมีผลลัพธ์ที่เลวร้ายกว่าผู้หญิง และผู้หญิงสามารถต่อสู้กับไวรัสได้ดีกว่า นอกจากนี้ร่างกายของผู้หญิงยังพัฒนาและตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า ภายหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน

ภาพจาก Philip FONG / AFP

นอกจากนี้ พฤติกรรมด้านสุขภาพที่แตกต่างกันตามเพศในแต่ละสังคม อาจมีบทบาทในการตอบสนองต่อการติดเชื้อที่แตกต่างกัน ซึ่งการสูบุหรี่คือหนึ่งในตัวแปรสำคัญ ประเทศจีนมีประชากรผู้สูบบุหรี่มากที่สุดในโลก ราว 316 ล้านคนคิดเป็น เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรที่สูบบุหรี่ทั่วโลก จากการสำรวจแห่งชาติ เรื่องการสูบบุหรี่ในประเทศจีนปี 2553 พบว่า ชายจีนสูบบุหรี่ 62 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้หญิงมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์

ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหน่วยฉุกเฉินทางสาธารณสุข ขององค์การอนามัยโลกกล่าวเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ระบุว่า การสูบบุหรี่เป็นเหตุสำคัญต่อการสันนิษฐานว่า เหตุใดไวรัสจึงส่งผลกระทบต่อผู้ชายมากกว่า เนื่องจาก การสูบบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างหลายประเภท

นอกจากนี้ ซาสเกีย โปเปสคู นักระบาดวิทยาของกลุ่มการแพทย์ Honor Health ในรัฐแอริโซนา สหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่อาจมีความเสี่ยงต่อไวรัสโคโรนาสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะโควิด-19 เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ และมักเป็นสาเหตุของโรคปอดบวม การมีประวัติการสูบบุหรี่ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือภาวะปอดบวมที่รุนแรงยิ่งขึ้น