เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันนี้ 29 เมษายน 2562 นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด และบริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้จัดแถลงข่าวขึ้นที่บ้านพักย่านลาดพร้าว เกี่ยวกับเรื่องทีวีดิจิทัล

นางพันธุ์ทิพา ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เนื่องจากต้องการทราบรายละเอียด หลักเกณฑ์ และขอบเขต ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ว่ามีประโยชน์กับบริษัทอย่างไรหรือไม่ ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นหนังสือถึงที่ประชุม กสทช. เพื่อขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่อง และได้ยุติการออกอากาศตั้งแต่ปี 2558

นางพันธุ์ทิพา กล่าวว่า จากการเข้ายื่นหนังสือจึงทราบว่า คำสั่งดังกล่าวสำหรับผู้ที่ถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลเท่านั้น ส่วนมาตรการเยียวยา สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนโครงข่าย และการคืนใบอนุญาต อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ อีกครั้ง

” บริษัทยืนยันว่า จะไม่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือกิจการทีวีดิจิทัลดังกล่าว เพราะบริษัทได้ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่องแล้ว จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการช่วยเหลือ โดย กสทช. จะส่งหนังสือชี้แจงในรายละเอียดกลับมาอีกครั้ง” นางพันธุ์ทิพา กล่าว

นางพันธุ์ทิพา กล่าวว่า ส่วนกรณีบริษัทได้ยื่นฟ้อง กสทช. โดยศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า กสทช. กระทำผิดสัญญาที่ได้ประกาศชี้ชวนไว้กับบริษัทจริง ดังนั้น บริษัทจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา จากนั้น กสทช. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษา เพื่อเรียกเงินคืนและค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน  1,134,991,689 บาท เพราะ กสทช. ผิดสัญญาและละเลยต่อหน้าที่ ดังนั้น กสทช. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่บริษัท

“ คาดว่า อีก 1 ปี ศาลน่าจะมีคำพิพากษาตัดสินออกมา และไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใดก็พร้อมน้อมรับ เชื่อว่า จะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต จำนวน 3 ช่อง จากเดิมที่มีกระแสข่าวว่าจะคืน 5 ช่อง เพราะ กสทช. ยังไม่มีข้อมูลรอบด้าน และมีความล่าช้าในการตั้งคณะอนุกรรมการในการแก้ปัญหา ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความลังเล ตัดสินใจที่ยากมาก เพราะถ้าคืนแล้ว จะกลับมาทำธุรกิจอีกยากมาก” นางพันธุ์ทิพา กล่าว

นางพันธุ์ทิพา กล่าวว่า การตัดสินในยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่อง และได้ยุติการออกอากาศตั้งแต่ปี 2558 รู้สึกว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และเหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะปัจจุบันได้เห็นถึงสถานการณ์ของทีวีดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการถูกดิจิทัลดิรัปชั่น

“เสนอให้ กสทช. นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ สาธารณะ (กทปส.) ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแทนการรอเงินจากการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะได้รับจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ในปี 2563” นางพันธุ์ทิพา กล่าว