เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

คำว่า “ปาบึก” (pabuk) ชื่อเรียก “พายุโซนร้อน” ที่เคลื่อนตัวเข้าประเทศไทย ความหมายของชื่อก็คือ “ปลาบึก” ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นแหละ เพียงแต่ว่า “ปาบึก” เป็นภาษาลาว โดยชื่อดังกล่าวตั้งโดย สปป.ลาว ตามกฎขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ที่เปิดโอกาสให้ประเทศในแต่ละภูมิภาค เสนอชื่อเข้ามา แล้วนำมาตั้งเป็นชื่อพายุ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกขานและจดจำ

ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่มาก ไม่มีเกล็ด เมื่อโตเต็มวัยอาจมีความยาวถึง 3 เมตร และหนัก 150 – 200 กิโลกรัม หรืออาจจะมากกว่านั้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแม่น้ำโขง ได้รับฉายา “ราชินีแห่งแม่น้ำโขง” (บางข้อมูลเรียกว่า ราชาแห่งแม่น้ำโขง)

นอกจากชื่อ “ปลาบึก” , “ปลาไตรราช” ในภาษาไทย และ “ปาบึก” ในภาษาลาวแล้ว เจ้าปลาชนิดนี้ยังมีอีกชื่อว่า “ปลาขงเบ้ง” โดยมีตำนานเล่าขานถึงความเป็นมาของชื่อ ซึ่งขอย้ำนะว่าเป็นตำนาน เป็นนิทาน ไม่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ หรือในวรรณกรรมสามก๊ก แต่อย่างใด ซึ่งถึงแม้เรื่องเล่าจะออกไปในแนวอภินิหาริย์ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปลาชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี

โดยตามตำนานเล่าว่า ขณะขงเบ้ง กุนซือของจ๊กก๊ก 1 ใน 3 ก๊กใหญ่ของแผ่นดินจีนโบราณ ได้ยกทัพไปทำศึกที่ภาคใต้ของจีน แล้วเสบียงอาหารใกล้หมด แต่ศึกยังติดพัน จึงไม่สามารถยกทัพกลับได้

ขงเบ้งจึงหยิบกุนเชียงขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ก่อนอธิษฐาน แล้วโยนลงไปในแม่น้ำ ทันใดนั้น กุนเชียงก็กลายเป็นปลาตัวใหญ่แหวกว่ายไปมา เป็นที่มาของชื่อ “ปลาขงเบ้ง” ที่ชาวจีนเรียกขาน ด้วยประการฉะนี้