เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างให้เห็นบ่อยๆ ถึงคนที่มีหน้าที่การงานดีและมั่นคงได้ผันชีวิตมายึดอาชีพ “เกษตรกร” กันหลายคน หนึ่งในนั้นคือ พยาบาลสาวสวย อ้น-กานต์รวี บัวบุญ อายุ 32 ปี ชาววาปีปทุม จ.มหาสารคาม

ในวันที่เธอตัดสินใจหันหลังให้อาชีพนี้ เธอโดนแรงเสียดทานจากสังคมมากมายว่า “บ้าหรือเปล่า” มีงานประจำทำดีๆ ทำไมถึงออกมา หากนั่นไม่ทำให้สาวตากลมคนนี้หวั่นไหว เธอเดินหน้าตั้งใจทำงานจนในที่สุด

ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี กานต์รวีได้รับคัดเลือกให้เป็น “ยังก์ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” จ.มหาสารคาม และล่าสุดเธอได้รับคัดเลือกจากกองบรรณาธิการ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ให้เข้ารับรางวัลประกาศเกียรติคุณเป็น “เกษตรกรดีเด่น ประจำปี 2560” โดยจะเข้ารับรางวัลในงานเกษตรมหัศจรรย์ 2560

“พืชกินได้ ไม้ขายดี” ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ในวันที่ 7 กันยายนนี้

ก่อนตัดสินใจมาเป็น “เกษตรกร” กานต์รวี จบการศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี เป็นพยาบาลอยู่ 8 ปี จบปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และกำลังศึกษาปริญญาเอกสาขาเดียวกันและที่เดียวกัน

“จุดหักเหของชีวิตที่ทำให้ตัดสินใจมาเป็นเกษตรกร เพราะแม่ป่วยเป็นมะเร็ง แต่ทั้งที่เราเป็นพยาบาล เราไม่สามารถพาแม่ไปหาหมอได้ เพราะอาชีพนี้ลาบ่อยๆ ไม่ได้ มันเป็นความเจ็บปวดที่ทำให้คิดว่า เราเป็นพยาบาลแท้ๆ ดูแลคนอื่นได้มากมาย แต่กลับดูแลคนในครอบครัวไม่ได้เลย” กานต์รวีย้อนเล่าถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต

เมื่อไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า “แม่” เธอจึงเดินหน้าแม้ “ไม่มีความรู้” เรื่องการเกษตรเลย

“อ้นใช้เวลาตัดสินใจ 6 เดือน ก่อนลาออกก็เริ่มมองว่า เราจะทำอะไร ก็มานั่งวิเคราะห์ทรัพยากรที่ตัวเองมี ต้นทุนที่มีคือที่ดิน 22 ไร่ ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็สูญเปล่า ซึ่งเราก็รู้ว่าอาชีพนี้มันเหนื่อย แต่เชื่อมั่นว่าเป็นอาชีพที่ไปได้ เพราะเกษตรกรเป็นพื้นฐานของประเทศ ถ้าไม่มีอาชีพนี้ ประเทศนี้ก็อยู่ไม่ได้ และเชื่อว่าถ้าเราไม่หยุดพัฒนาเราก็ไม่อดตาย”

กานต์รวีเลือกที่จะไม่ “กู้เงิน” มาทำการเกษตร เพราะ “ถ้ากู้เงินมาทำ เหมือนเริ่มจากติดลบ ซึ่งนี่ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของความพอเพียง”

“ตอนนั้นไม่ได้มีเงินเหลือเยอะ ก็อาศัยช่วงก่อนลาออก เก็บเงินด้วยการไม่ซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง”

เนื่องจากสภาพพื้นที่การชลประทานไม่ดี ทำให้ชาวบ้านทำ “นาน้ำฝน” ได้ปีละครั้ง เมื่อเห็นข้อจำกัดเรื่องน้ำ กานต์รวีจึง “เลี้ยงสัตว์” โดยมาสรุปที่ “เลี้ยงไก่ไข่”และ “ไก่บ้าน” เพราะต้นทุนไม่สูง เกษตรกรคนอื่นสามารถทำตามได้

“เราทำเราคิดเผื่อคนอื่นด้วย ถ้าทำสวยหรู ลงทุนสูง คนอื่นทำตามไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์”

ทุนตั้งต้นของ “ฟาร์มไข่อารมณ์ดี เลี้ยงตามวิถีธรรมชาติ」” เริ่มต้นที่ 6,000 บาท ด้วยการซื้อลูกเจี๊ยบมาเลี้ยง 800 กว่าตัว ทำเกษตรแบบอินทรีย์ปลอดสารพิษ เน้นระบบการเลี้ยงให้ไก่มีความสุข ทั้งคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี มีระบบการเลี้ยงที่เป็นธรรมชาติ ไม่ขังกรง รวมทั้งเปิดเพลงให้ไก่ฟังทุกวัน

“ทำครั้งแรก ลูกเจี๊ยบก็ตายไปเกือบครึ่งเลย” เธอว่า

แต่นี่ก็ทำให้เรียนรู้ว่า บางครั้งทฤษฎีเอามาใช้ไม่ได้ เธอจึงตัดสินใจทำแบบ “เลิร์นนิ่งบาย ดูอิ้ง” ใช้หลักเริ่มจากน้อยๆ ไปก่อน เพื่อศึกษาธรรมชาติของสัตว์ พอมั่นใจแล้วก็จึงเลี้ยงมากขึ้น

ด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่คล่องโซเชียลมีเดีย เวลาทำอะไรก็จะ “โพสต์” ลงเฟซบุ๊ก “เราพยายามนำเสนอความสวยงามของอาชีพนี้ลงไปในโซเชียลว่าไม่ได้แย่อย่างที่คิด และมีความสุขเหมือนอาชีพอื่นๆ”

จากตรงนี้ ทำให้มีคนมาติดตามชีวิตเธอจำนวนมากกว่า 5,000 คน ซึ่งในจำนวนผู้ติดตามก็กลายมาเป็น “ลูกค้า” ที่อุดหนุนไข่อารมณ์ดี ผักปลอดสารพิษ

ปัจจุบัน กานต์รวีเลี้ยงไก่ไข่ เป็ดไข่ ไก่เนื้อ เป็ดเนื้อ รวมกันกว่า 2,000 ตัว รวมทั้งขยายจากเลี้ยงสัตว์เล็กไปเลี้ยงสัตว์ใหญ่ อย่าง หมูพื้นเมือง วัว ควาย และแพะ และแม้จะไม่ได้เป็นพยาบาลแล้ว แต่ได้นำความรู้มาใช้กับอาชีพนี้ได้ด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่ หมู วัว ควาย “ตกลูก” เธอจะทำหน้าที่เป็น “หมอตำแย” ทำคลอดให้สัตว์เหล่านี้

“อาชีพเกษตร เราต้องใช้ตลาดนำการผลิต เราถึงจะไปรอด เมื่อเราเน้นการผลิตเชิงประณีต ทำให้ราคาสูงกว่าท้องตลาดเล็กน้อย ตอนนี้ก็ทำทั้งตลาดพื้นเมือง และส่งประเทศเพื่อนบ้านด้วย”

เมื่อถามถึงรายได้ กานต์รวีบอกว่า ก็ยังมีขึ้นๆ ลงๆ แต่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ดีไซน์รายได้ได้ เราจะเพิ่มเงินได้อย่างไร หรืออยากให้ได้โบนัสทุก 3 เดือนก็ทำได้ ซึ่งบางเดือนมีรายได้เป็นแสน นอกจากนี้ เธอยังสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านคนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะกับผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป

“ทุกวันนี้ต้องหารายได้ให้ได้เดือนละ 60,000 บาทขึ้นไป เพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัว ดูแลฟาร์ม และจ้างงานแรงงานด้วย อาชีพนี้ไม่ร่ำรวย แต่เรามีความสุข ที่สำคัญได้ดูแลพ่อแม่อย่างเต็มที่ ตั้งแต่ลาออกมาจนถึงวันนี้ ไม่เคยรู้สึกเสียใจเลย”

และที่ “สุขใจ” ที่สุด เห็นจะเป็น เธอดูแลแม่จนหายป่วยจากโรงมะเร็ง

“ถ้าใครมาเห็นแม่ จะไม่รู้เลยว่าแม่เคยป่วยมาก่อน” เธอว่ายิ้มๆ

เรียกว่าเป็น 3 ปีที่คุ้มค่า ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ เธอบอกว่า แรงบันดาลใจอีกอย่างมาจาก “พลังงานจน” ซึ่งเธอเคยโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กว่า “มือไม่ด้าน ไม่ได้ตังค์”

“ถ้าเราไม่จน เราก็ไม่ดิ้นรน ถ้าเรายังทำงานประจำ เราก็อาจจะไม่มีแรงขนาดนี้ แอ๊กทีฟแบบนี้ การตัดสินใจลาออกทำให้เราต้องฮึด ตอนนี้ เราเป็นเกษตรกรเต็มตัว เราทำอาชีพเกษตรกรจริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อโชว์”

ทำอาชีพเกษตรกรก็จริง แต่สาวคนนี้ก็ยังมีไลฟ์สไตล์ไม่ต่างจากคนทั่วไป มีช่วงเวลาพักชิลชิลจิบกาแฟในร้านฮิพๆ มีช่วงเวลาไปเที่ยวรีแลกซ์ ไทม์ รวมถึงทานข้าวสังสรรค์กับเพื่อนฝูง แถมยังมีช่วงเวลาแต่งตัวสวยๆ ไปเดินห้างช้อปปิ้ง หรือแม้กระทั่งทำงานอยู่ในฟาร์ม ก็ยังมีช่วงเวลาเซลฟี่ตัวเองกับสัตว์ที่เธอเลี้ยงทุกสายพันธุ์

ไลฟ์สไตล์ของเธอได้ “เปลี่ยนภาพจำ” ของเกษตรกรสมัยก่อนไปอย่างสิ้นเชิง หากเป็น “เกษตรกรรุ่นใหม่” หัวใจฮิปสเตอร์ไม่เบาทีเดียว

“อาชีพเกษตรกร เป็นอาชีพที่มั่นคงด้วยตัวอาชีพเองอยู่แล้ว ดั่งปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสอนไว้ว่า ให้ทำแล้วมีภูมิคุ้มกัน ถ้าเราดำเนินตามหลักที่พระองค์ตรัสไว้ คือ เราไม่มีทางอดตาย แต่ขณะนี้เป็นวิกฤตของเกษตรกร หมดยุคนี้แล้วจะไม่มีคนทำการเกษตรแล้ว ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่มุ่งไปทำงานประจำอย่างเดียว อย่างน้อยเด็กอีสานมีต้นทุนด้านที่ดิน ไม่อยากให้พากันทิ้งอาชีพนี้ อยากให้หันกลับมาพัฒนาอาชีพปู่ย่าตายาย ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่ทำ อาชีพเกษตรกรจะเหลือแค่ในตำนาน” กานต์รวีทิ้งท้าย