เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 4 พ.ย. 61 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อายุ 25 ปี หลานชายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu โดยมีข้อความระบุว่า [ปรับจากระบบเกณฑ์ทหาร มาเป็นระบบสมัครใจ] เมื่อวันก่อนเป็นครั้งแรกที่ผมได้แสดงความคิดเห็น ว่าอยากเห็นการเปลี่ยนระบบการรับราชการทหาร จากระบบเกณฑ์ในปัจจุบัน มาเป็นระบบสมัครใจ (ยกเว้นในช่วงภัยสงคราม) ผมไม่น่าจะเป็นคนเดียวหรือคนแรกที่เล็งเห็นถึงความเหมาะสมของการปรับแบบนี้ แต่คำถามที่สำคัญคือ เราจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร?

เรื่องการทำให้เป็นจริงได้ มันต้องดูถึงรายละเอียดของแผนที่ผมเตรียมจะนำเสนอต่อพรรคและประชาชนในเร็วๆนี้ แต่ผมคิดว่าเราต้องคำนึงถึง 2 ข้อ

  1. กองทัพจะต้องมีกำลังทหารเพียงพอสำหรับปฏิบัติหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศ ซึ่งต้องมาจากทั้ง
    1.1. การประเมินและลดยอดพลทหารที่ไม่จำเป็นต่อความมั่นคง (เช่น พลทหารรับใช้ การลด “ไขมัน” ในองค์กร) ควบคู่ไปกับ
    1.2. การเพิ่มคุณภาพชีวิตพลทหารให้อาชีพทหารเป็นอาชีพที่น่าดึงดูดขึ้น ด้วยการรับรองค่าตอบแทนต่อเดือนที่เหมาะสมต่อค่าครองชีพและไม่โดนหักโดยไม่จำเป็น การขยายสวัสดิการที่ครอบคลุมความต้องการของพลทหารมากขึ้น และ การกำจัดความรุนแรงในค่ายทหารให้หายไป
เรื่องนี้ต้องไม่กลายเป็นประเด็นทางการเมือง หรือ ถูกมองว่าเป็นการต่อสู้กับกองทัพ เพราะผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดก็ตาม จะประสบความสำเร็จได้ดีที่สุด ถ้าเราได้รับความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หน้าที่ของฝ่ายการเมือง จึงจำเป็นต้องทำให้กองทัพ (ในฐานะองค์กรที่มีส่วนได้เสีย) ให้การยอมรับข้อเสนอนี้ เพื่อจะปรับตัวไปพร้อมกัน

(ผมได้ฟังบทสัมภาษณ์ของท่าน ผบ. ทบ. ฉบับเต็มแล้ว ความจริงถ้าเราตัดประโยคพาดหัวที่ท่านพูดว่า “มันเป็นไปไม่ได้” สิ่งอื่นที่ท่านพูด มันกลับไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้น ผมกลับมองว่าหลายอย่างที่ท่านพูดบ่งบอกด้วยซ้ำว่า “มันเป็นไปได้”) วันหลังผมจะมาอธิบายว่าทำไมผมถึงยังไม่รู้สึกหมดหวัง หลังได้ฟังคำพูดของท่าน ผบ. ทบ. และลงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอของผม แต่ผมหวังว่าแนวทางนี้จะตอบโจทย์ทุกฝ่าย แนวทางนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งผู้ที่ต้องการเป็นทหาร และผู้ที่ต้องการทำอาชีพอื่น แนวทางนี้จะคืนศักดิ์ศรีให้กองทัพ ให้พ้นครหา “สถาบันอำนาจนิยม” ไปสู่ “กองทัพยุคใหม่” ที่แม้เล็กลงด้วยขนาด แต่แข็งแกร่งด้วยประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยบุคลากรที่สมัครใจทำงานและพร้อมทุ่มเทให้องค์กรอย่างแท้จริง

แนวทางนี้จะตอบโจทย์ความมั่นคงของชาติในโลกสมัยใหม่ ทำให้ประเทศไทยรับมือกับภัยคุกคามในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างเท่าทัน “ทหารสมัครใจ ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่นใจ”