เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

พ.ต.ต.อรัณ ไตรตานนท์ นายแพทย์ สบ 2 กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ ได้ออกมาโพสต์เตือนภัย โดยได้เขียนข้อความทั้งหมดดังนี้

วันนี้มีเรื่องราวของถุงน้ำรังไข่ชนิดที่เรียกว่า Dermoid cyst มาเล่าให้ฟังครับ , ผู้ป่วยรายนี้เป็นสุภาพสตรีอายุ 38ปี สุขภาพดีแข็งแรง ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เรื่องราวเริ่มมาจากมีหน้าท้องยื่นซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าตัวเองอ้วน จึงมีหน้าท้องยื่นออกมา (ผู้อ่านลองคลำหน้าท้องตัวเองดูไหมครับ?)

ต่อมาได้ไปนวดแผนไทย พนักงานนวดทักว่ามีเนื้องอกหรือเปล่า เหมือนก้อนจะกลิ้งไปมาได้นะ! ผู้ป่วยจึงเข้าพบแพทย์ ได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยการทำ Ultrasound พบว่ามีถุงน้ำในท้องน้อย

แพทย์จึงส่งตรวจ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติม สรุปว่ามีถุงน้ำรังไข่ขนาด16ซม. ในท้องน้อย จากภาพทางรังสีจะเห็นว่าถุงน้ำมีลักษณะผิวเรียบ เป็นวงรีคล้ายไข่ไก่ ภายในมีของเหลวแยกเป็น2ชั้นชัดเจน

เมื่อทำการผ่าตัดพบว่าภายในถุงน้ำนี้ประกอบด้วย ไขมัน ผิวหนัง เส้นผม กระดูก ฟัน อยู่ภายในก้อนครับ น้ำหนักรวมประมาณ 1.2 กิโลกรัม ในผู้ป่วยรายนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Dermoid cyst เรียกอีกอย่างว่า “Mature cystic teratoma”

Dermoid cyst พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยในวัยเจริญพันธุ์ อายุเฉลี่ยที่พบคือประมาณ 30 ปี , ส่วนใหญ่จะพบเป็นข้างเดียว จากสถิติทั่วไปพบเป็นสองข้างร้อยละ15 , ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่อาจมาด้วยอาการปวดท้องหรือก้อนในช่องท้อง เนื้องอกชนิดนี้มีโอกาสเกิดการบิดขั้ว (torsion) ได้บ่อยครับเนื่องจากขั้วของถุงน้ำรังไข่ชนิดนี้มักจะค่อนข้างยาว และถ้าเป็นที่รังไข่ข้างขวาจะมีโอกาสบิดมากกว่าข้างซ้าย อาจารย์แพทย์บางท่านเชื่อว่าถุงน้ำรังไข่ข้างซ้าย มีลำไส้ใหญ่ส่วนที่เรียกว่า sigmoid ขวางและป้องกันการบิดขั้ว

Dermoid cyst สามารถพบขนาดได้หลายขนาดตั้งแต่ 1-30 ซม. ผนังด้านในของถุงน้ำมักมีส่วนนูน ค่อนข้างแข็ง เรียกว่า Rokitansky protuberance , ภายในก้อนประกอบด้วยส่วนที่เป็นผิวหนัง กระดูก กระดูกอ่อน เส้นผม เนื้อเยื่อประสาท สารไขมัน และฟัน เป็นต้น

ส่วนใหญ่ถุงน้ำชนิดนี้จะมีความหนาจึงไม่ค่อยแตก ผิวเรียบตึง เคลื่อนไหวได้ บางทีก้อนอาจจะเคลื่อนที่มาอยู่หน้าต่อมดลูก เรียกว่า Kustner’s sign. , หากเกิดการแตกของถุงน้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องมากจากภาวะ Peritonitis

การรักษาที่เหมาะสม คือการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งการผ่าตัดผ่านกล้อง และการผ่าตัดวิธีมาตรฐาน ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำได้จากสูตินรีแพทย์ผู้ดูแลนะครับ

สูตินรีแพทย์มักจะทำการผ่าตัดเลาะถุงน้ำออกจากรังไข่ที่ปกติ (cystectomy) เพื่อเก็บเนื้อรังไข่ที่ดีเอาไว้ ในขณะผ่าตัดแพทย์ทุกท่านมักจะระวังไม่ให้ถุงน้ำเกิดการรั่วหรือแตก และจะตรวจดูรังไข่ด้านตรงข้ามว่ามีความผิดปกติหรือไม่

ผู้ป่วยที่เป็น Dermoid cyst แทบทุกคนกังวลว่าจะมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่ จากสถิติที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยทั่วไปพบว่า Dermoid cyst พบการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็ง (malignant transformation) ร้อยละ1 เท่านั้นนะครับ และมักจะเป็นชนิดที่เรียกว่า squamous cell carcinoma arising in Dermoid cyst.

โดยความเห็นส่วนตัวของผม จะแนะนำให้สุขภาพสตรีตรวจสุขภาพ รวมถึงพบสูตินรีแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อตรวจภายใน หากพบความผิดปกติ แพทย์มักจะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมต่อไป เพื่อนำไปสู่การวางแผนดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป