เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เผยผลการประชุม Annual PDMO Market Dialogue ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะตลาดตราสารหนี้ ความต้องการลงทุนของนักลงทุน และแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยในอนาคต เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการระดมทุนของรัฐบาลให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะตลาด

โดยมีผู้ร่วมตลาดให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ผู้ค้าหลักของกระทรวงการคลัง (MOF Outright PD) และนักลงทุนสถาบันกว่า 100 ราย

แผนการระดมทุนและแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
1. ประมาณการความต้องการระดมทุนในประเทศของรัฐบาลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 วงเงินรวม 1,163,668 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1.1. การกู้เงินใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 วงเงิน 592,353 ล้านบาท

(ก) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562    450,000     ล้านบาท
(ข) การกู้เงินเพื่อนำมาให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ                               92,353    ล้านบาท
(ค) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2561      50,000    ล้านบาท
1.2 การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิม (Rollover)  วงเงิน  571,315 ล้านบาท

(ก) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ/                 346,436    ล้านบาท     เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ และการบริหารหนี้ หนี้เงินกู้บาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ และหนี้เงินกู้ พ.ร.ก. ไทยเข้มแข็งฯ
(ข) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้ FIDF    167,532    ล้านบาท
(ค) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้มาเพื่อให้กู้ต่อ                                57,347     ล้านบาท

2. แผนการระดมทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

2.1 การออกพันธบัตร Benchmark

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สบน. วางแผนที่จะระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลที่ใช้ในการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark Bond) เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพันธบัตรรุ่นเดิมในตลาด (Re-open) และมีรุ่นใหม่ (New-Issue) 1 รุ่น ได้แก่ พันธบัตรอายุ 20 ปี (LB386A) โดยมีวงเงินรวมของพันธบัตร (Bond Supply) จำนวน 600,000 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน

สบน. ได้มุ่งเน้นการออก Benchmark Bond ให้ครบทุกช่วงอายุอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมนักลงทุนทุกกลุ่ม สร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference Rate) ให้กับตลาดตราสารหนี้ในประเทศ และช่วยส่งเสริมสภาพคล่องในตลาดรอง  ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ สบน. ได้กำหนดให้พันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี เป็นรุ่น Exclusivity และมี Greenshoe Option โดยให้สิทธิเฉพาะแก่ MOF Outright PDs เท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมการประมูลพันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี ได้ รวมทั้งให้สิทธิในการซื้อพันธบัตร Benchmark ดังกล่าวเพิ่มเติมในอัตราถัวเฉลี่ยรับ (Average Accepted Yield: AAY) เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 20 ของพันธบัตรที่ได้รับจัดสรร โดยให้ใช้สิทธิดังกล่าวระหว่างเวลา 11.00 – 11.30 น. ของวันประมูล

ทั้งนี้  สบน. สามารถพิจารณาจัดสรรพันธบัตรเพิ่มเติม (Overallotment) ให้แก่ผู้เสนอประมูลตามอัตราร้อยละที่ผู้ประมูลเสนอ โดยจะสามารถจัดสรรพันธบัตรเพิ่มเติมในสัดส่วนที่กำหนด หากสภาวะตลาดเอื้ออำนวย

2.2 การออกพันธบัตรออมทรัพย์ (Savings Bond)
สบน. มีแผนที่จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งลงทุนที่มีคุณภาพ และส่งเสริมภาคการออมให้กับประชาชน อีกทั้ง เพื่อเป็นการผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการระดมทุน เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจะเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์จำนวน 2 ครั้ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยจะประกาศระยะเวลา เงื่อนไข อายุ และอัตราดอกเบี้ยให้ทราบต่อไป

2.3 การออกตราสารหนี้ระยะสั้น
สำหรับแผนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) และสัญญาเงินกู้ (Term Loan) เป็นต้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการระดมทุน บริหารต้นทุนให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน ลดความเสี่ยงในการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และเพิ่มขีดความสามารถในการกู้เงินในสภาวะที่ตลาดตราสารหนี้ที่มีความผันผวนได้

สบน.จะติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อใช้ประกอบการพิจารณากู้เงินผ่านตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลสูงสุด

3. แผนการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

การดำเนินธุรกรรม Bond Switching ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในวงเงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท โดยจะดำเนินการทั้งรูปแบบผ่านตัวกลาง (Syndication) ซึ่ง สบน. จะมีการประกาศรับสมัครเพื่อคัดเลือกผู้จัดการการแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Arranger) ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2561 และบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic-Switching: E-Switching) ที่ สบน. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อให้เป็นอีกช่องทางที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน และเพิ่มจำนวนผู้เล่นในการเข้าทำธุรกรรม

สบน. จะประกาศรูปแบบ วงเงินรุ่นพันธบัตรที่จะใช้ในการแลกเปลี่ยน และช่วงเวลาให้ทราบต่อไป