เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 13 ก.ย. 61 จากกรณีที่ พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน ที่นอกจากมีแผนการหาจุดจอดรถ Park & Ride หรือจอดแล้วจรให้ประชาชนเชื่อมต่อรถชัทเทิลบัสแล้ว ขณะที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ขสมก.ต้องลดจำนวนรถเมล์ประจำทางในรามคำแหง สายที่มีปริมาณรถมากแต่คนขึ้นน้อย เพราะรถมีขนาดใหญ่และเก่า เมื่อเกิดปัญหารถติดรถเสียจะใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก

ล่าสุด นายชำนาญ อยู่สอาด ผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 6 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวคัดค้านแนวคิดดังกล่าว โดยระบุว่า

“รถเมล์ ขสมก.ไม่ได้สร้างปัญหาจราจร ฟังความเห็นการสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรแล้วปวดหัวใจครับ “เพราะรถเมล์ มีขนาดที่ใหญ่ บางเส้นทางทำให้สร้างปัญหาจราจร” เจ็บเล็กครับกลับตรรกะนี้ จากอดีตที่ผ่านมา แนวคิดการแก้ไขปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ ในหลากหลายนานาอารยประเทศ คือความพยายามจูงใจให้ประชากรในเมืองหลวง เปลี่ยนแปลงการเดินทางจากยานพาหนะส่วนตัว มาใช้บริการสาธารณะ ด้วยรถโดยสารประจำทาง อาทิ เวียดนาม เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ แม้กระทั่งแถบยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะเกาหลีใต้

ในยามเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รัฐบาลจะประกาศให้ขึ้นรถโดยสารประจำทางฟรี เพื่อความปลอดภัย โดย รัฐฯจะรับภาระจ่ายงบประมาณชดเชยสาธารณะ(Public service obligation : PSO.) ให้กับรัฐวิสาหกิจ หรือ เอกชน ที่บริการฟรีแก่ประชาชน

ประเทศชาติบ้านเมืองเรา ปัญหาจำนวนรถส่วนบุคคลล้นตลาด สวนกับกระแสจูงใจให้จอดรถไว้ที่บ้านมาโดยสาร “รถประจำทาง” เพราะผิดพลาดในการแก้ปัญหา ส่งเสริมการขาย ผูกมัดใจไม่ให้ย้ายฐานผลิตด้วยนโยบาย “รถคันแรก” จนสร้างปัญหาจำนวนรถล้นถนน ผู้คนมีคดีความเพราะภายหลังหมดปัญญาผ่อนส่ง เดือดร้อนผู้ซื้อและผู้ค้ำประกันเป็นทิวแถว

รถตู้โดยสารระหว่างจังหวัด,กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล มีปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิต แนวคิดหลายภาคส่วน มีข้อสรุปต้องตรงกันให้ปรับเปลี่ยนจากรถตู้โดยสารเป็นขนาดใหญ่เทียบเท่า “มินิบัส” ด้วยข้ออ้างส่งเสริมความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

บัสเลน และ รถเมล์ เส้นทางด่วนถนนลาดพร้าว ที่เคยมีเพื่อจูงใจ ส่งเสริมอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน คนสนับสนุนนโยบาย “จอดรถไว้ที่บ้าน มาโดยสารรถประจำทาง” ถูกยกเลิกเพราะกระทบอภิสิทธิ์ชนที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่าคนหาเช้ากินค่ำ

รถโดยสารสาธารณะที่ถูกกฎหมายจ่ายภาษี สร้างปัญหาจราจร หรือรถวินเถื่อนที่มีหลากสีคอยปกป้องคุ้มครอง ใครกันสร้างปัญหาวิกฤตจราจรในปัจจุบัน คลี่คลายมวลชนหลังชุมนุม ทุกครั้ง ใครคือม้าอารี รถเมล์ ขสมก. หรือพาหนะใดในทุกๆครั้ง ทุกเหตุการณ์

วิกฤต มหาอุทกภัยท่วมกรุง ปี 2554 รถเมล์ ขสมก.ม้าอารี ใช่หรือไม่ ออกจากแฟลต จากซอยลึก จากหมู่บ้านชานเมือง จนเครื่องยนต์พังเสียหายไปหลายคัน ใครกันบริการ รถเมล์คันใหญ่ หรือ รถส่วนตัวนั่งเพียงลำพัง

เฉพาะกิจในทุกกิจกรรม ได้เงินบ้าง ฟรีบ้าง รถเมล์ ขสมก.ม้าอารี ใช่หรือไม่ที่ให้บริการด้วยหน้าชื่นอกตรม จนหนี้ทับถมเป็นแสนล้าน คนทำงานหมดวาสนาเข้าถึง คำว่า โบนัส ทั้งที่เช้าค่ำ ตรากตรำไม่ต่างกรรมกรขายแรงแลกเงินประทังชีวิต

สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม จีน ไต้หวัน เกาหลี “กลางวัน ไม่มีการก่อสร้าง” เพื่อไม่เกิดวิกฤติจราจร แต่บ้านเราตรงกันข้าม นัยว่าเพื่อประหยัดงบประมาณลงทุน คุ้มไหมกับความเสียหายจากเศรษฐกิจที่มีการก่อสร้าง ถนนสุขมวิท เพชรเกษม จรัญสนิทวงศ์ เศรษฐกิจครัวเรือนถดถอยไปกว่า 10 ปี วันนี้ ลาดพร้าว รามอินทรา รามคำแหง พหลโยธิน เศรษฐกิจสองข้างกำลังเผชิญชะตากรรมที่ขาดการชดเชย เพียงเพราะต้องการใช้รถไฟฟ้าในอนาคตอีก 5-6 ปี

รถเมล์ ขนาดใหญ่ ขนคนครั้งละกว่า 100 คนนั่งมีทุกระดับชั้น ยาจกจนถึงรัฐมนตรี วันนี้ไม่ใช่ปัญหา หรือ สร้างปัญหาจราจร การบังใช้กฏหมาย(Raw Enforcement)เพื่อแก้ไขกฏหมู่ น่าจะดูดีกว่า ก่อนหน้านั้น “รัฐมนตรีที่แกร่งที่สุดในปฐพี” ยังเคยเดินฟุตปาทข้างทาง ถนนโล่ง รถเมล์วิ่งสะดวก ไม่มีรถจอดเกะกะผิดกฎหมาย “ตำรวจไงครับ เป่านกหวีดลั่นถนน” ผู้คนชื่นชมปรบมือเกรียวกราว สรรเสริญเยินยอ

เชื่อว่า “รถเมล์ มีขนาดใหญ่ สร้างปัญหาจราจร” คงเป็นเพียงวูบหนึ่งทางแนวคิด มิใช่บทสรุปของทางเลือก

คิดผิด คิดใหม่ได้ครับ”