เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันนี้ (14 ส.ค.) นายอธิราช กนกเวชยันต์ โยธาธิการและยังเมืองจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮายใหม่ ในระยะที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมไอยรา แกรนด์ พัทยา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาให้แก่เมืองพัทยา สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวสากลระดับโลก ภายใต้คำนิยาม “เมืองท่องเที่ยวแห่งนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (The world class greenovative tourism city)

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย เป็นท่าเรือที่ก่อสร้างมานาน จนมีความชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดความคับคั่ง โดยเฉพาะในบางช่วงเวลา หรือวันหยุดต่อเนื่อง นอกจากนี้ ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮายเดิม ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ทั้งการเทียบเรือ และการขึ้นลงของนักท่องเที่ยว จำเป็นต้องมีการปรับปรุงใหม่ 
กรณีดังกล่าว กรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชลบุรี จึงได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 20 ล้านบาท ว่าจ้างให้บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการฯ รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิศวกรรม และการสำรวจเพื่อออกแบบก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย และโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รวมระยะเวลา 500 วัน โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ส.ค.2560 พร้อมจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2560

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในครั้งที่ 2 นี้ เป็นการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 2 ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายภายในรัศมี 5 กิโลเมตร จากขอบเขตที่ตั้งโครงการ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตการปกครองพิเศษเมืองพัทยา และเทศบาลเมืองหนองปรือ รวมถึงพื้นที่เกาะล้าน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการเดินทางจากท่าเรือของโครงการ

โดยมีแนวคิดในการพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 2 สู่การพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับต่อปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งท่าเรือใหม่ที่ออกแบบจะเป็นท่าเทียบเรือที่ทันสมัย มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับนักท่องเที่ยว และเรือที่เข้ามาใช้บริการท่าเทียบเรือ 
นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงความปลอดภัยในการเข้าเทียบท่า และการขึ้นลงของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยมีขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวสูงสุดต่อวันประมาณ 50,000 คน ขณะที่ท่าเทียบเรือปัจจุบันสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 30,000 คนต่อวัน
ส่วนแนวคิดในการออกแบบท่าเทียบเรือของโครงการในแต่ละทางเลือกนั้น จะพิจารณาความเหมาะสมในประเด็นต่างๆ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ ร่องน้ำ คลื่น ลม และกระแสน้ำ เป็นต้น รวมถึงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยที่สุด ทั้งในช่วงก่อสร้างและดำเนินการ ทั้งนี้ โครงการในแต่ละทางเลือกนั้นจะมีแนวคิดในการออกแบบเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน โดยท่าเรือใหม่จะทำการก่อสร้างคู่ขนานท่าเรือเก่า ซึ่งมีการออกแบบท่าเรือไว้ จำนวน 3 รูปแบบ ซึ่งมีลักษณะทางกายวิภาคแตกต่างกันในระยะความยาว 470-570 เมตร แต่จะมีองค์ประกอบสำคัญ
เช่น ท่าเทียบเรือสำหรับเรือเฟอร์รี่ 4 ท่า ท่าเทียบเรือสำหรับเรือโดยสารไปเกาะล้าน 4 ท่า ท่าเทียบเรือสำหรับเรือเช่าเหมาลำ 6 ท่า ท่าเทียบเรือสำหรับเรือ Speed Boat 8 ท่า และท่าเทียบเรือสำหรับเรือราชการ หรือเรือยอชต์ 2 ท่า ดังนั้น การประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษา การกำหนดขอบเขต และแนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท