เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. เอเอฟพี รายงานกระแสฮือฮาในแวดวงวิทยาศาสตร์หลังการค้นพบ “ฟัน” จำนวน 11 ซี่ ที่คาดว่าเป็นของฉลามดึกดำบรรพ์ที่มีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่า ของฉลามขาวยักษ์ปัจจุบัน ที่บริเวณหาดแจน จุก ริมเส้นทางเลียบชายทะเลในรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ยืนยันแนวคิดที่ว่าฉลามสายพันธุ์ดังกล่าวเคยมีชีวิตอยู่ในมหาสมุทรบริเวณนี้

 

 

นายฟิลิป มุลลาเลย์ นักสะสมฟอสซิลโบราณ กล่าวว่า “ผมเดินเล่นอยู่ริมหาดเผื่อจะเจอเศษฟอสซิลที่น่าสนใจไว้สะสม สักพักก็เหลือบไปเห็นบางอย่างสะท้อนแสงอยู่ตรงโคนหินแถมมีฟันซีแหลมๆ โผล่ออกมาด้วย” และว่า “ทันใดนั้นผมก็ตื่นเต้นทันทีเลย ลางสังหรณ์ผมมันเป๊ะมาก ผมรู้ว่ามันต้องสำคัญแน่ๆ เลยรีบแชร์ให้เพื่อนๆ ทราบ”

 

 

ด้านพิพิธภัณฑ์รัฐวิคตอเรีย และนายเอริค ฟิตซ์เจอรัลด์ นักวิชาการด้านกายวิภาคสัตว์มีกระดูกสันหลัง ยืนยันว่า ฟันดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 7 เซนติเมตร มาจากปลาฉลามโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เรียกว่า เจ้าฉลามยักษ์ฟันเลื่อย (Carcharocles angustidens) เชื่อว่าเคยมีชีวิตอยู่ในย่านนี้เมื่อประมาณ 25 ล้านปีก่อน มีขนาดยาวสูงสุด 9 เมตร ถือเป็นหนึ่งในสามชุดที่มีการค้นพบบนโลก และครั้งแรกในออสเตรเลีย