เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

หลังจากที่ “พระโค้ชเอก และ3 นักเตะทีมหมูป่าฯ” ได้สัญชาติไทย ได้เกิดคำถามตามมามากมาย เรื่องการให้สัญชาติไทยกับ 4 สมาชิกทีมหมูป่าฯ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับบุคคลไร้สัญชาติคนอื่นๆ เช่นกัน ต่างก็มองว่าทำไมถึงไม่ได้ “สิทธิพิเศษ” เฉกเช่นพวกเขา

เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปปัญหาบุคคลไร้สัญชาติ ในประเทศประเทศไทยมีกว่า 875,814 คน จากจำนวนประชากร 66,188,503 คน ตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560

ที่ผ่านมามีการยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยจำนวนมาก รวมทั้งประชากรแฝงที่ไม่มีสถานะใดๆ และคนที่เกิดในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติอีกมาก หนึ่งในบุคคลที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ คือ “นายหม่อง ทองดี” หนุ่มวัย 21 ปี ที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเมื่อ 9 ปีก่อน ในฐานะที่เคยเป็นตัวแทนประเทศไทย คว้าอันดับ 3 การแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษ หรือ โอกามิ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนั้นเขาอายุ 12 ปี

นายหม่องเกิดที่ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ติดชายแดนไทย-เมียนมา พ่อแม่เป็นแรงงานต่างด้าวที่มาขายแรงงานในประเทศไทย ก่อนที่จะพาครอบครัวมาทำงานก่อสร้างในตัวเมืองเชียงใหม่ ในตอนนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัญญาว่าจะช่วยให้ได้สัญชาติไทย และส่ง ด.ช.หม่องเรียนจบปริญญาเอก แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ มาถึงพรรคเพื่อไทย เรื่องราวการให้สัญชาติไทยแก่นายหม่อง ก็เงียบหายไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 นายหม่องมายื่นแบบคำร้องขอให้พิจารณาความจำเป็นต้องมีสัญชาติไทย ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมีนายมิ้น ชัยวงศ์ คอยประสานงานช่วยเหลือ ซึ่งได้แนบใบรับรองการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาด้วย
แต่ในตอนนั้น นายบุญส่ง แสงกฤช ปลัดอำเภอเมืองเชียงใหม่ ยังร้องขอเอกสารที่เหลืออยู่ คือ ใบเกิดของนายหม่อง ซึ่งต้องไปติดต่อที่ว่าการอำเภอไชยปราการ เพื่อให้ทางอำเภออัพเดตข้อมูลลงในระบบ ส่วนคำร้องจะส่งไปให้อธิบดีกรมการปกครองพิจารณา

อย่างไรก็ตาม มีช่องทางในการพิจารณาให้สัญชาติไทยได้อีกทางหนึ่ง คือ การทำคุณงามความดี ซึ่งคนที่จะพิจารณาอนุมัติเรื่องนี้ คือพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่การจะพิจารณาให้สัญชาติไทยไม่ว่าจะบุคคลใดก็ตาม ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งรัฐต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ