เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

การรับน้องใหม่ในสังคมไทยเต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างที่เห็นตามสื่อจริงหรือไม่ วิธีการรับน้องของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และท้ายที่สุดแล้ว การรับน้องนำไปสู่วัตถุประสงค์ หรือ “เป้าหมาย” ที่ตั้งไว้หรือไม่

เริ่มที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งภาคเหนืออย่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายเทวฤทธิกร เป็งยังคำ ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าประสบการณ์รับน้องว่า เขาผ่านการรับน้องมาอย่างครบถ้วน ทั้งการรับน้องจังหวัด ชมรม สาขา และคณะ โดยทุกกิจกรรมถูกดำเนินการผ่านระบบโซตัส (SOTUS) ทั้งหมด และมีการว้ากด้วยเสมอ

ทำไมต้องว้าก ? เทวฤทธิกรเล่าว่า การว้ากไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่การใช้อารมณ์ส่วนตัวข่มหรือกร่างใส่รุ่นน้องอย่างที่หลายคนเข้าใจ การว้ากแต่ละครั้งต้องมีการวางแผนและทำกันเป็นทีมเวิร์ก ทุกคนที่จะเข้าว้ากต้องเข้าประชุมทุกครั้งเพื่อทำความเข้าใจ รวมถึงรู้ข้อจำกัดต่าง ๆ ในการว้ากเนื่องจากการว้ากเป็นการใช้เสียงและแรงกดดัน ฉะนั้น คนว้ากจะต้องระลึกและมีสติเสมอว่า กำลังพูดอะไร พูดกับใคร และพูดเพื่ออะไร

“ผมมองการว้ากก็คล้ายกับการที่ผู้ใหญ่ดุเรา คือ เราไม่ได้ว้ากเพื่อด่าเอาอารมณ์เข้าว่า แต่ว้ากเพื่ออยากให้น้องพัฒนา ผมให้นิยามอย่างนี้นะ การเข้ามาปี 1 ทุกคนมาจากต่างโรงเรียน ต่างสังคม อยู่มาวันหนึ่งต้องมาอยู่รวมกัน ต้องมาทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างด้วยกัน ตลอด 4 ปี จุดประสงค์เราก็คือการสร้าง unity ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในรุ่นของน้องเอง”

เมื่อถามถึงกรณีกระแสข่าวการรับน้องตามสื่อที่เต็มไปด้วยความรุนแรงนั้น เทวฤทธิกรให้ความเห็นว่า ส่วนตัวได้รับกระแสข่าวทั้งการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการว้าก และการใช้ความรุนแรงมาพอสมควร และได้นำคำติชมเหล่านั้นมาปรับเปลี่ยนวิธีการรับน้องภายในจังหวัดด้วย

“ผมคิดไว้ว่าจะค่อย ๆ ปรับ โดยลดให้ไม่มีการว้าก แล้วไปทำอย่างอื่นแทน เริ่มจากรับน้องจังหวัดก่อน ที่มีทำไปแล้วก็มีทำค่ายวิชาการติวหนังสือให้น้อง เราทำเป็นตัวอย่างให้น้องรุ่นหลังสานต่อว่า ไม่มีว้าก เราก็ทำได้นะ”

“ไม่ว่าจะทำกิจกรรมรูปแบบไหน ผมมองว่าต้องมีเป้าหมายหลัก คือ ฝึกให้เราอยู่ร่วมกันและเคารพกัน พี่ต้องไม่ส่งต่อความเกลียดชังหรือความรุนแรงไปสู่น้อง อะไรที่เราเคยได้รับมาแล้วมันไม่ดี เราก็นำมาปรับให้ดีขึ้น กลมขึ้น เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น” เทวฤทธิกรกล่าว

จากเชียงใหม่ลงมาที่กรุงเทพฯ สุปวีร์ แก้วไทย ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงประสบการณ์การรับน้องด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า การรับน้องทำให้เธอได้เพื่อนและพี่เพิ่มขึ้นในชีวิตหลายคนมาก ๆ การรับน้องที่เธอผ่านมานั้นแบ่งเป็น การรับน้องมหาวิทยาลัย และรับน้องคณะ กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมสันทนาการ จากนั้นวันสุดท้ายมีพิธีผูกข้อมือบายศรีฯให้รุ่นน้อง เป็นอันเสร็จสิ้น

ส่วนการรับน้องของคณะ จะกินระยะเวลาค่อนข้างหลายเดือน ตามระยะเวลาการเข้าห้องเชียร์ กิจกรรมในห้องเชียร์ คือการซ้อมร้องเพลงที่น้อง ๆ จะต้องร้องบนสแตนด์ในวันเปิดพิธีเฟรชชี่เกมส์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งระหว่างที่น้องเข้าซ้อมร้องเพลงจะมีรุ่นพี่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดทุกวัน

“สำหรับเรา การมาเข้าห้องเชียร์ที่ไม่มีว้าก มันทำให้เราอยากมามากเลยนะ มาแล้วเราได้มาเจอเพื่อน เจอพี่ที่เขาดูแลเราดีมาก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ (ย้ำ) เพราะกลับบ้านไป เราก็ไม่มีอะไรให้ทำ มันเป็นช่วงเพิ่งเปิดเทอม พอมีห้องเชียร์ได้มาร้องเพลง มาเจอเพื่อน เจอพี่ ยิ่งรุ่นพี่ที่เรามาทุกครั้ง เขาดูแลเราดีตลอด มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า เออ เราอยากมาอีกทุกวันเลย”

ถามว่าการรับน้องของมหาวิทยาลัยที่มีเพียง 3 วัน จะช่วยให้น้องสนิทกันได้จริงหรือ? สุปวีร์ตอบว่า ตลอด 3 วันนี้เป็น 3 วันที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอดเวลาจริง ๆ การรับน้องมหาวิทยาลัยทำให้เธอได้รู้จักเพื่อนต่างคณะ ถ้าไม่มีการรับน้องมหาวิทยาลัย เธอก็ไม่รู้ว่าจะมีเวลาได้เจอเพื่อนต่างคณะในช่วงเวลาไหนอีก

ด้าน นางสาวปุญญารัศมิ์ เฮงไพศาลศิริ ศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ไม่ได้ผ่านการรับน้องมาอย่างเข้มข้นนักเล่าว่า การรับน้องของทางมหาวิทยาลัยมีเพียงวันเดียวและจบภายในวันนั้น โดยจัดกิจกรรมให้น้องแบ่งกลุ่มต่อแถวไปหารุ่นพี่ที่อยู่แต่ละชมรม จากนั้นจะมีกิจกรรมให้น้องออกมาเต้น มีการผูกข้อไม้ข้อมือ พี่ ๆ ชักชวนน้องเข้าชมรม หากน้องไม่อยากเข้าร่วมก็ไม่ได้ว่าอะไร

ถามว่าเคยคิดอยากผ่านประสบการณ์รับน้องอย่างเข้มข้นจริงจังเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นบ้างไหม เธอตอบว่า ไม่รู้สึกอะไร เพราะคิดว่าการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยคือการมาเพื่อเรียนหนังสือ การรับน้องไม่ได้มีส่วนช่วยให้เรียนจบ คนที่ช่วยให้เรียนจนจบได้ก็คือตัวของเธอเอง

“การทำความรู้จักเพื่อนก็รู้จักกันจากการเจอกันในชั้นเรียนและการเลือกชมรม พอเราเจอหน้ากันบ่อยขึ้นก็ทำให้เราสนิทกับเพื่อนคนนั้นไปเอง ไม่ได้มองว่าการรับน้องมีส่วนทำให้เราสนิทกับเพื่อนในรุ่นมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่ทำให้เราคงความเป็นเพื่อนได้ยาวนานก็คือ นิสัยของกันและกันจริง ๆ ที่จะเป็นตัวคัดกรองคนมากกว่า”

จะเห็นว่า ทั้ง 3 คนผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง บางคนได้รับประสบการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ก็ถูกรองรับด้วยเหตุผลที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น บางคนได้รับความสนุกสนาน หรือบางคนไม่ได้ให้น้ำหนักไปกับกิจกรรมรับน้องเลยก็มี

ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับน้องที่มักจะมีประเด็นเกิดขึ้นทุกปีว่า การรับน้องก็เหมือนการ orientation คือการช่วยแนะนำผู้ที่มาใหม่ให้สามารถปรับตัวเพื่อใช้ชีวิต เรียน หรือทำงานในสังคมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้กิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันเป็นสื่อ ทำให้ต้องทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์กันอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอาจมีการถ่ายทอดสอดแทรกกฎกติกาการอยู่ร่วมกันว่าควรทำตัวอย่างไร

สิ่งที่ต้องคิดต่อคือกิจกรรมรับน้องที่ทำอยู่มีหลากรูปแบบมาก ๆ มีอันไหนที่ตอบโจทย์จริง ๆ และอันไหนที่ไม่ตอบโจทย์ก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยนไป เช่น ถ้ารุ่นพี่บอกว่าอยากสร้างความสามัคคี โดยมีกติกาว่า ถ้าเพื่อนคนหนึ่งทำผิดกฎ หรือหายไป ต้องลงโทษทั้งรุ่น อาจจะทำให้คนที่เป็นต้นเหตุให้เพื่อน ทั้งรุ่นถูกลงโทษอยู่ไม่ได้เลย เพราะเพื่อนจะโกรธเกลียดที่ทำให้ถูกลงโทษ แทนที่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ กลับสร้างความร้าวฉานในรุ่นมากกว่า

อาจารย์บอกอีกว่า เท่าที่ถามนิสิตนักศึกษาทั่วไปที่เจอการบังคับข่มขู่ให้ต้องเข้าร่วมก็น้อยลงแล้ว แสดงว่ามีการปรับเปลี่ยนไปเหมือนกัน

“อีกอย่างที่อยากฝาก คือ กิจกรรมรับน้องเป็นกิจกรรมสั้น ๆ ช่วงเริ่มต้นชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่อาจจะช่วยสร้างและเร่งให้เกิดความผูกพันสามัคคีกันเร็วขึ้น และทำให้น้อง ๆ รู้สึกว่า รุ่นพี่รักและห่วงใย ซึ่งการเริ่มต้นได้ดี ก็น่าจะดีค่ะ แต่ยังมีเวลาอีก 4 ปีที่ชุมชนหรือสังคมนั้นต้องพิสูจน์ตัวเองว่า วัฒนธรรมหรือบรรทัดฐานในสังคมนั้นเป็นอย่างที่ถูก highlight ในช่วงรับน้องหรือเปล่า ในที่สุดความรัก ความภาคภูมิใจในสถาบัน น่าจะได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 4 ปีนั้นมากกว่า ว่ารุ่นพี่ยังแสดงให้เห็นว่า มีการดูแลใส่ใจกันต่อเนื่อง อยู่กันด้วยความรัก สามัคคีกันจริง ๆ และคนในคณะหรือสถาบันที่อยู่สร้างคุณค่าให้สังคม ควรค่าที่สมาชิกจะรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้นจริงหรือเปล่า” ดร.ทิพย์นภากล่าว

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเปิดภาคเรียนใหม่ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ บางสถาบันได้เริ่มรับน้องไปบ้างแล้ว สิ่งสำคัญที่รุ่นพี่ควรตระหนักและพึงระลึกไว้ก็คือ ทุกการกระทำต้องทำเพื่อให้รุ่นน้องได้ประโยชน์สูงสุด และอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยเสมอ ไม่ใช่เอาความคึกคะนองหรือความสะใจส่วนตัวไปลงที่น้อง เหมือนที่เราเห็นกันตามสื่ออยู่บ่อยครั้ง

แล้วคุณล่ะคิดว่ากิจกรรมรับน้องยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ?