เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เวลา 13.10 น. วันที่ 7 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.ว่า การประชุม คสช.วันนี้หารือถึงการบริหารจัดการน้ำ โดยจะหาแนว ทางที่เหมาะสมในการรับมือ ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี “พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ” รองนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานให้ทราบว่า มีการเตรียมการอย่างดี ขอชมเชยผู้ว่าฯที่เตรียมการรับมือ โดยวันที่ 8 ส.ค. ตนจะลงพื้นที่เพื่อไปดูระดับน้ำ เนื่องจากปัจจุบันนี้มีระดับน้ำที่สูง จึงต้องไปดูแผนที่เตรียมการไว้ว่าครบถ้วนหรือไม่ วันนี้คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำยังคงทรงตัวและลดลงหลังจากระบายน้ำออกแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันที่ 8 ส.ค. จะไปตรวจงานในเรื่องเหล่านี้ หลายพื้นที่อาจจะต้องมีแผนอพยพประชาชน บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำ เขตการระบายน้ำออก จะต้องเตรียมการรับมือ โดยเก็บข้าวของไว้ในที่สูง พร้อมเตรียมอพยพไปในพื้นที่ปลอดภัยหากมีปริมาณน้ำมากขึ้น เนื่องจากมีลมพายุเข้ามาซึ่งจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ

ยันไม่ท่วมเหมือนปี 54
ด้าน “นายกฤษฎา บุญราช” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อน แก่งกระจานว่า การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนดังกล่าว เราใช้ 3 ช่องทาง คือ ประตูปิด-เปิดธรรมดา ช่องทางน้ำล้น (สปิลเวย์) และใช้เครื่องสูบน้ำออก โดยน้ำทั้งหมดจะลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมวลน้ำใหญ่กำลังเคลื่อนตัวลงมา กระทรวงเกษตรฯ และสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แยกมวลน้ำดังกล่าวให้ออกไปทางซ้ายและขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ส่วนหนึ่งใช้เครื่องสูบน้ำเป็นทางลัดสู่อ่าวไทย อีกส่วนกำลังดูพื้นที่ว่างที่ยังไม่มีการทำเกษตรให้น้ำ ลงพื้นที่นั้น

เมื่อถามว่ามีแผนรองรับกรณีที่มีฝนตกหนักหรือไม่ นายกฤษฎากล่าวว่า ต้องดูปริมาณน้ำก่อน เราคาดว่ามีปริมาณน้ำไหลอยู่ที่ประมาณ 70-80 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ถ้าขึ้นถึง 200-300 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในเมืองจ.เพชรบุรีเกิดน้ำท่วม แต่จะไม่ท่วมกระจายเหมือนเมื่อก่อน เพราะเรามีพนังกั้นและเครื่องสูบน้ำคอยรองรับไว้จากกรม ชลประทาน 35 เครื่อง ซึ่งเริ่มสูบน้ำออกแล้ว

ส่วนเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ยังคงรับน้ำได้อยู่ และยืนยันน้ำจะไม่ท่วมแบบปี 2554 แน่นอน

น้ำล้นสปิลเวย์”แก่งกระจาน”
“นายทองเปลว กองจันทร์” อธิบดีกรมชล ประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อน แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า ล่าสุดปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานอยู่ที่ 725 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 102 และยังคงมี น้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำหรือสปิลเวย์ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน สถานการณ์เขื่อนแก่งกระจานยังคงระบายน้ำผ่านช่องทางปกติ รวมทั้งใช้กาลักน้ำที่ได้ติดตั้งเพิ่มเติมอีก 10 ชุด รวมกับของเดิมที่ติดตั้งไว้แล้วทั้งสิ้น 22 ชุด และเครื่องสูบน้ำ 7 เครื่อง ยังดำเนินการสูบน้ำอย่างต่อเนื่อง

“รวมปริมาณน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนแก่งกระจานทั้งสิ้น 13 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และควบคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนเพชรได้ในอัตรา 124 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำเช่นกัน กรมชลประทานจะใช้เขื่อนเพชรบริหารจัดการน้ำ โดยการหน่วงน้ำและตัดน้ำเข้าระบบชลประทาน และผันออกคลองระบายน้ำ D9 ออกสู่ทะเล ในอัตรา 90 ลบ.ม./วินาที จากนั้นจะระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรในอัตรา 140-160 ลบ.ม./วินาที ลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรี ซึ่งอาจทำให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและพื้นที่ชุมชนบางแห่งประมาณ 0.20-0.30 เมตร”

“กรมชลประทานและหน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำจำนวน 38 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีจำนวน 20 เครื่อง นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ อีก 20 ลำ ติดตั้งบริเวณหน้าวัดคุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด ขอให้เชื่อมั่นว่ากรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรีได้อย่างเต็มศักยภาพ”

ย้ายเครื่องสูบหนีน้ำท่วม
“นายสุธี เล้าสุบินประเสริฐ” นายอำเภอแก่งกระจาน เปิดเผยว่า ตนอยากจะทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าสถานการณ์ขณะนี้ น้ำไม่ได้ล้นเขื่อน เพียงแต่ล้นสปิลเวย์ เจ้าหน้าที่นำเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่องทำหน้าที่ผลักดันน้ำให้ไหลไปในทางธรรมชาติ น้ำจะไหลผ่าน 5 อำเภอ ส่วนอ.แก่งกระจานก็เตรียมตัวพร้อมแล้ว ชาวบ้านที่อยู่บนที่ราบจะไม่ได้รับกระทบ มีเพียงรีสอร์ตหลายแห่งจะได้รับผลกระทบ

น้ำทะลักท่วมรีสอร์ต
“นายไพรัตน์ บุญมีมฃา” อายุ 35 ปี ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่บริเวณรีสอร์ตบ้านอิงน้ำ ซึ่งอยู่บริเวณทางผ่านของน้ำที่ไหลมาจากสปิลเวย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำตอนนี้ถือว่าอยู่ในขั้นรุนแรงระดับปานกลาง เพราะปี 2546 เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นเดียวกันมาแล้ว แต่มีปริมาณน้ำท่วมสูงมากกว่า ครั้งนี้น้ำเริ่มล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คิดว่าน้ำน่าจะท่วมสูงขึ้นอีก แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ล้นออกมาจากสปิลเวย์ ปกติจุดที่อยู่ในทางน้ำไหลบริเวณนี้จะเป็นถนนลูกรังที่จะเข้าไปยัง รีสอร์ตริมน้ำ ซึ่งผู้คนสามารถขับรถยนต์หรือจักรยานยนต์ผ่านไปมาได้ บริเวณนี้จะมีรีสอร์ตต้นน้ำประมาณ 10 แห่ง แต่ตอนนี้ต้องปิดบริการชั่วคราว ส่วนการรับมือกับน้ำท่วมตอนนี้ผู้คนในพื้นที่และผู้ประกอบการทยอยกันขนย้ายสิ่งของกันไปบ้างแล้ว”

ขณะนี้ระดับความรุนแรงของน้ำไม่ได้ถือว่าท่วมเขื่อนแก่งกระจาน แต่ท่วมอยู่ในระดับของสปิลเวย์เท่านั้น แต่ผู้ประกอบการรีสอร์ตทั้งหมดตัดสินใจหยุดกิจการชั่วคราว และเตรียมขนของขึ้นที่สูง เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น

เพชรบุรีระดมกระสอบทรายกั้นน้ำ
จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจานมีแนวโน้มสูงขึ้น คาดว่าอาจจะทะลักเข้าท่วมตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรีนั้น ช่วงเย็นวันเดียวกัน ที่บริเวณสะพานอุรุกพงษ์ ค่ายรามราชนิเวศน์ (กองพันบน) มีชาวบ้านเพชรบุรีทยอยมาดูปริมาณน้ำที่เริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ปริมาณจะยังไม่สูงเท่าเมื่อปี 2561 แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่หวั่นวิตกเนื่องจากกรมป้องกันบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดประกาศเตือนตั้งแต่เมื่อ วันที่ 6 ส.ค. ให้ทุกคนเตรียมพร้อมยกสิ่งของขึ้นที่สูง รวมทั้งแจกจ่ายกระสอบทรายให้ป้องกัน กันบ้างแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่อ.เมือง จ.เพชรบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจในตลาดอำเภอเมืองเพชรบุรี ปรากฏว่าชาวบ้านนำกระสอบทรายมาป้องกันน้ำ บางรายใช้การก่ออิฐบล็อก

สำหรับสถานการณ์น้ำในจังหวัดเพชรบุรี แหล่งข่าวจากกรมชลประทานยืนยันว่ายังไม่น่าเป็นห่วง แม้จะมีน้ำล้นสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจานออกท้ายเขื่อนลงแม่น้ำเพชรบุรี อัตรา 154.37 ลบ.ม.ต่อวินาที และน้ำไหลตามลำน้ำเพชรบุรีมาที่เขื่อนเพชร ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และที่เขื่อนเพชรน้ำถูกแบ่ง 5 สาย ก่อนส่งลงทะเล โดยลงคลองส่งน้ำชลประทาน 2 สายไปลงทะเลที่อ.ท่ายาง ลงทะเลที่อ.เมืองเพชรบุรี 1 สาย ลงทะเลที่อ.บ้านแหลม 1 สาย และผ่านแม่น้ำเพชรไปลงที่อ.บ้านแหลม และแม่น้ำเพชรรับน้ำจากเขื่อนเพชรได้สูงถึง 150 ลบ.ม.ต่อวินาที หากปล่อยมากกว่านี้จะมีผลกระทบกับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเพชรที่ลุ่มต่ำใต้เขื่อนเพชร ปัจจุบันเขื่อนเพชรปล่อยน้ำออกท้ายเขื่อนเพชรอัตรา 123.83 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงยังไม่มีผล กระทบกับชุมชน อย่างไรก็ตามจะประมาทไม่ได้ ชาวจ.เพชรบุรีอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในกรณีที่มีฝนตกเหนือเขื่อนแก่งกระจาน น้ำลงเขื่อนมากจนล้นข้ามสปิลเวย์การการควบคุม หรือไม่ก็มีฝนตกในพื้นที่ใต้เขื่อนแก่งกระจานมากจนเกินที่เขื่อนเพชรจะควบคุมได้

วันเดียวกัน “พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า ในที่ประชุมครม. “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” รองนายกฯ รายงานให้ครม.ทราบถึงการลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำที่จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ถึงการพร่องน้ำว่ามีมาตรการรักษาระดับน้ำให้อยู่ที่ระดับ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่มีความห่วงใยว่าเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร และเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีระดับน้ำเต็มความจุเขื่อน ขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจน บุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบฯ มีระดับน้ำเกือบเต็มความจุเขื่อนนั้น ขอให้มั่นใจว่าเขื่อนดังกล่าวมีศักยภาพรับน้ำได้ ยืนยันว่าไม่มีอะไรน่าห่วง ไม่มีโอกาสที่น้ำจะล้นสันเขื่อน

กฟผ.เปิดศูนย์เฝ้าระวัง

วันเดียวกัน “นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง” ผู้ช่วย ผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. กฟผ.เปิดศูนย์เฉพาะกิจติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานข้อมูลและติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อน กฟผ.ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด ร่วมกับศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤตของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน โดยมีการประชุมผ่านระบบ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับเขื่อนแต่ละแห่งทั่วประเทศเป็นประจำทุกวัน มีผู้บริหารและ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์สถานการณ์น้ำเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ

สถานการณ์น้ำของเขื่อนกฟผ. เมื่อวันที่ 7 ส.ค. โดยรวมทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นเขื่อนในภาคตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ บางแห่งที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม ได้แก่ ภาคตะวันตก เขื่อนวชิราลงกรณ เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 7,505 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ของความจุ โดยได้ปรับแผนการระบายน้ำตามมติของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ เพิ่มขึ้นในอัตราวันละ 43 ล้านลบ.ม.ต่อวัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 765 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุ เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 105 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุ และเขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 104 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุ

ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้แก่ ภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำกักเก็บ 7,711 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 57 ของความจุ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 6,369 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 67 ของความจุ ภาคตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 15,423 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 87 ของความจุ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำกักเก็บ 1,084 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 55 ของความจุ และภาคใต้ เขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำกักเก็บ 4,415 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 78 ของความจุ และเขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 807 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 55 ของความจุ เขื่อนหลายแห่งที่เดิมมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำตามข้อสั่งการของสทนช. จนปริมาณน้ำในอ่างลดลงอยู่ในเกณฑ์ควบคุม และกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

เร่งช่วยเหลือชาวบ้านติดน้ำ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 ก.ค. เกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้ถนนหลายสายขาด เส้นทางลัดเลาะตามไหล่เขาลาดชัน ไม่สามารถใช้รถยนต์สัญจรไปมาได้ ทำให้หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย และ เจ้าหน้าที่ที่ติดค้างระหว่างการปฏิบัติภารกิจต้องขาดการติดต่อ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานต้องนำข้าวสารอาหารแห้งเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน แต่เนื่องจากผ่านมาหลายวันและเส้นทางสัญจรยังไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้ชาวบ้านต้องอยู่กันอย่างยากลำบาก

นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า ที่บ้านโป่งลึก บางกลอยขณะนี้แม่น้ำเพชรบุรีไหลเต็มตลิ่ง ทำให้เข้าท่วมถนนเข้าหมู่บ้าน ประมาณ 1-2 เมตร เป็นจุดๆ 3 ช่วง รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เจ้าหน้าที่ต้องใช้การเดินเท้าเลาะไปตามสันเขา หรือใช้เรือ เพื่อเข้าไปต่อรถที่จอดอยู่อีกฝั่งเดินทางเข้าไปในหมู่บ้าน จากการตรวจเช็กทราบว่าในหมู่บ้านยังพอมีข้าวเหลืออยู่ แต่เครื่องประกอบอาหารในร้านค้าหมู่บ้านถูกขายไปหมดแล้ว โดยเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ทางอุทยานฯเข้าไปช่วยเหลือหญิงสูงอายุในหมู่บ้านที่ป่วย เบื้องต้นอาการปลอดภัยแล้ว น้ำที่ท่วมนั้นยืนยันได้ว่าเกิดจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก

เขื่อนศรีนครินทร์ยังรับน้ำได้อีก
วันเดียวกัน “นายไววิทย์ แสงพานิชย์” ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจน บุรี เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณซึ่งมีความจุอ่าง 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ที่ระดับ 155 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ส.ค. เวลา 8.00 น. มีปริมาณน้ำในเขื่อน 7,505 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 85% โดย กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณปรับแผนระบายน้ำเฉลี่ย 43 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนมาก โดยอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,355 ล้านลบ.ม. เนื่องจากเวลานี้มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างมากกว่าวันละ 100 ล้าน ลบ.ม.อย่างต่อเนื่อง

ด้าน “นายประเสริฐ อินทับ” ผอ.เขื่อนศรี นครินทร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 174.25 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปริมาณน้ำ 15,434.41 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 86.98% โดยวันนี้มีแผนการระบายน้ำ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร

“ประเทศไทยยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงใน จ.กาญจน บุรี โดยเมื่อวันที่ 6 ส.ค. มีน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ 47.63 ล้านลบ.ม. และระบายน้ำออกตามแผนการระบายน้ำ 23.67 ล้านลบ.ม. ตอนนี้ยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีก 2,322.11 ล้านลบ.ม. ทำให้มั่นใจได้ว่าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ยังคงสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีก”

270 ครอบครัวถูกตัดขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนที่ตกติดต่อบริเวณต้นน้ำเพชรมานานนับสัปดาห์ ทำให้ถนนเข้าสู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน ถูกน้ำท่วมหลายจุดจนไม่สามารถสัญจรได้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพชรที่ไหลผ่านบ้านโป่งลึก-บางกลอยเพิ่มสูงขึ้นมาก เส้นทางเข้าไปยังหมู่บ้านเหลือเพียงช่องทางเรือเท่านั้น

“นายนิรันดร์ พงษ์เทพ” ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย กล่าวว่า ตอนนี้ข้าวสารในหมู่บ้านเหลือน้อยมาก ชาวบ้านต้องหาผักและปลากินประทังชีวิต ต้องอยู่กันอย่างยากลำบาก ถนนหมู่บ้านก็โดนตัดขาด ตอนนี้ชาวบ้านกำลังรอคอยความช่วยเหลืออยู่ เพราะข้าวถือเป็นอาหารหลักของ พี่น้องกะเหรี่ยง ตอนนี้ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 270 หลังคาเรือน ประมาณพันกว่าคนกำลังเดือดร้อน จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือโดยเร็ว

ผู้ว่าฯกาญจน์แจ้งเตือนภัย13อำเภอ
วันเดียวกัน “นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์” ผู้ว่าฯกาญจนบุรีทำหนังสือราชการด่วนที่สุดแจ้งถึงประชาสัมพันธ์จังหวัดและนายอำเภอทั้ง 13 อำเภอถึงเรื่องของสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า โดยเฉพาะปริมาณ น้ำสะสมในเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิรา ลงกรณ ที่มีจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มระดับการระบายน้ำให้มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยเขื่อนศรีนครินทร์ปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 20 ล้านลบ.ม.ต่อวันเริ่มตั้งแต่วันที่ 6-12 ส.ค. ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณเพิ่มการระบายน้ำเป็น 43 ล้านลบ.ม.ต่อวันเป็นระยะเวลาสองเดือน ขณะที่เขื่อนแม่กลองซึ่งเป็นจุดรับน้ำจากทั้งสองเขื่อนก็ระบายน้ำเพิ่มเป็นวันละ 60 ล้านลบ.ม.

“นายอารุณ ปินตา” หน.สนง.ปภ.จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ทางจังหวัดมีหนังสือถึงอำเภอที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มปริมาณการระบายน้ำของเขื่อน โดย 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทองผาภูมิ, ศรีสวัสดิ์, ไทรโยค, เมือง, ท่าม่วง และท่ามะกา

ระนองท่วม 400 หลัง
เมื่อเวลา 14.30 น. ปริมาณน้ำฝนที่ตกมากกว่า 120 ม.ม. ตั้งแต่เมื่อเช้าที่ผ่านมา ส่งให้เกิดน้ำป่าหลากจากแนวเทือกเขาใน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ทะลักลงคลองบางหิน และไหลเอ่อล้น เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน 400 หลังความสูงของระดับน้ำร่วม 1 เมตร น้ำได้ไหลบ่าอย่างรวดเร็ว เข้าท่วมพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 2 บ้านบางหิน หมู่ 4 บ้านวังกุ่ม หมู่ 5 บ้านคลองทราย ต.บางหิน อ.กะเปอร์ โดยบางหลังคาเรือนไม่สามารถยกของขึ้นที่สูงทัน เนื่องจากน้ำป่ามาเร็วมาก กำลังพลทหารจากศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 และฝ่ายปกครองอำเภอกะเปอร์ ได้เร่งเข้าอพยพย้ายคนออกจากบ้านอย่างเร่งด่วน

ปภ.เตือน 50 จว.รับมือน้ำท่วม
“นายชยพล ธิติศักดิ์” อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลายพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่อง และปริมาณน้ำท่าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 6-9 ส.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อีกทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ทั่วทุกภาคมีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักหลายพื้นที่ รวมถึงมีฝนสะสมในพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม

โดยจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังอุทกภัย แยกเป็นภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรี ธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วนจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังคลื่นลมแรง แยกเป็น ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล