เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 6 ส.ค. 61 ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 ศาลากลาง จ.เพชรบูรณ์ นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ เป็นประธานประชุม หารือในการแก้ไขปัญหาผิวทางถนนทรุดตัวทางขึ้นภูทับเบิก ทางหลวงหมายเลข 2331 โจ๊ะโหวะ-อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ช่วง กม.9+300 ถึง 10+650 โดยมี ทหาร ตำรวจ แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 1 ผู้แทนกรมทรัพยากรธรณี ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมทางหลวง พบว่า พื้นที่ปัญหาผิวทางถนนทรุดตัวทางขึ้นภูทับเบิกมีโอกาสเกิดดินสไลด์มาก เพราะพบลักษณะขั้นบันไดของชั้นดิน 3 ขั้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนเริ่มต้นก่อนจะถล่ม ตอนนี้ได้ให้ประชาชน 3 หลังคาเรือน ที่อยู่ในแนวถนนทรุดตัวต้องย้ายออกทันที และได้มอบให้นายอำเภอหล่มเก่าดำเนินการซักซ้อมการอพยพอีก 25 หลังคาเรือน ด้านล่างที่ตั้งอยู่ในหุบเขาเดียวกัน

ปัจจุบัน ตามกฎหมายเราได้ปิดเส้นทาง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีประชาชนที่อาศัยอยู่บนภูทับเบิกลักลอบเดินทางถนนเส้นนี้ เนื่องจากอีกเส้นทางที่สามารถใช้ได้มีระยะทางที่ไกล จึงไม่สามารถปิดกั้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหานี้ทางจังหวัดได้เตรียมขอใช้เส้นทางเหมืองแบ่ง เป็นอีกเส้นทางที่มีระยะทางไม่ไกล แต่มีข้อพิพาทกันอยู่ โดยจะขอจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าจะมีกฎหมายใด ที่จะเปิดใช้เส้นทางนี้เพื่อแก้ไขปัญหาให้ราษฎรได้ใช้ชั่วคราวหรือไม่

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมนำเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรหนักที่กำลังแก้ไขถนนที่ทรุดตัวให้ลงมาจากทางขึ้นภูทับเบิก โดยมีเพียงบางส่วนที่ต้องอยู่เปิดทางน้ำ เมื่อเสร็จแล้วก็จะลงมาทันทีเช่นกันเพื่อความปลอดภัย และไม่เป็นการเพิ่ม vibration ให้ชั้นดิน

ด้าน นายนิวัติ บุญนพ ผู้อำนวยการสำนักงาน ทรัพยากรธรณี เขต 1 กล่าวว่า ทีมงานกรมทรัพยากรธรณีได้ลงพื้นที่สำรวจ พบความเสียหายหลายจุด ถนนทรุดตัวลง 1-2 เมตร มีรอยแยกหลายแนวบนถนนกว้าง 10-70 ซม. และยาว 25-150 ม. ทิศทางตั้งฉากกับ Slope พบ scarp อยู่ทั่วไป สลับลักษณะขั้นบันไดของชั้นดิน 3 ขั้น หากถึง 4 ขั้น จะอยู่ในเกณฑ์อันตราย ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนเริ่มต้นก่อนจะถล่ม และยังพบ palaeo landslide (กองดินสไลด์โบราณ) ขนาดใหญ่รองรับถนน มีพื้นที่ครอบคลุมช่วงของถนนที่มีปัญหา

จึงสรุปได้ว่า มวลดินในพื้นที่ที่รองรับถนนอยู่ในสภาวะอ่อนแอ พร้อมจะเสียสมดุล และมีแนวโน้มที่จะเกิดการลื่นไถลแบบ Rotational Slide ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และตามพยากรณ์อากาศจะมีฝนตกในภาคเหนือติดต่อกันระหว่าง 5-10 ส.ค. 61 จึงต้องเฝ้าระวังหากมีปริมาณน้ำฝนตกในพื้นที่ใน 24 ชม. หากวัดได้ 100 มม. ให้ชาวบ้านเตรียมเก็บของ 150 มม. ให้อพยพ และ ถึง 180 มม. จะมีโอกาสเกิดการถล่มได้ นอกจากนี้ ทีมงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมาติดตั้งกล่องเตือนภัยดินถล่มประจำหมู่บ้าน ซึ่งถ้ามีการกดสัญญาณก็จะมีการร้องเตือนภัยไปในหลายๆ หมู่บ้าน เป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยประชาชนอีกทางหนึ่ง