เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เวลา 10.45 น.ที่ ทำเนียบรัฐบาล “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า ในช่วงเที่ยงวันเดียวกันนี้ตนจะเดินทางลงพื้นที่ เพราะเป็นห่วงปริมาณน้ำที่สูงโดยคาดการณ์ว่าในช่วงบ่ายปริมาณน้ำจะใกล้เคียงกับระดับทางน้ำล้น (สปิลเวย์) จึงสั่งการให้กรมชลประทานติดเครื่องระบายน้ำเพิ่มเติม เพราะต้องการควบคุมระดับน้ำที่ออกจากเขื่อนแก่งกระจานก่อนลงไปที่เขื่อนเพชร เพื่อไม่ให้น้ำผ่านมากเกินไป โดยจะผลักดันน้ำผ่านคลองชลประทานสองด้านเพื่อออกทะเลให้มากที่สุด นอกจากนั้นจะดูว่าคลองดี 9 ที่ดำเนินการก่อสร้างไปห้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้วนั้นจะสามารถระบายน้ำได้หรือไม่ ถ้าทำได้จะให้ระบายผ่านเส้นทางนี้ด้วย เพื่อลดผลกระทบกับตัวเมืองเพชรบุรีให้มากที่สุด

“พล.อ.ฉัตรชัย” กล่าวว่า คาดว่าหากระบายน้ำผ่านสามจุดนี้จะมีปริมาณน้ำที่ระบายออก 90 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวินาที และปริมาณสูงสุดที่จะออกจากแก่งกระจานอยู่ที่ 240-250 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำที่ลงสู่เขื่อนเพชรจะเหลือ 160 ลบ.ม. ต่อวินาที จะลดผลกระทบได้พอสมควร และได้รับรายงานว่าหากสามารถระบายน้ำได้ ตามที่ตั้งเป้าไว้ปริมาณน้ำ ที่จะเข้าถึงตัวเมือง 50 เซนติเมตร แต่พื้นที่ลุ่มต่ำปริมาณอาจสูงขึ้น แต่ไม่สูงขึ้นเป็นเมตรอย่างที่มีข่าว นอกจากนั้นยังเตรียมการอีกจุดคือบริเวณบ้านแหลมที่ขุดลอกไว้เมื่อปี 2560 จะช่วยระบายน้ำได้อีกทางจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่อ่าวไทย ทั้งนี้สิ่งที่กังวลคือหากมีน้ำเข้ามาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้ามาภายใน 2-3 วันนี้ จะส่งผลกระทบด้านตะวันตกของประเทศ เพราะน้ำมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขงที่เอ่อท่วมจ.สกลนครและหนองคายดีขึ้น น้ำที่ท่วมตัวจังหวัดลดลง แต่พื้นที่ลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำยังมีปัญหาหากแม่น้ำโขงสูง และเร่งสั่งการระบายน้ำภาคอีสานและให้รายงานตลอด

“พล.อ.ฉัตรชัย” ยังกล่าวอีกว่า ใช้คำนี้ไม่ค่อยดี รัฐบาลพยายามดูแลเต็มที่ มีศูนย์น้ำอัจฉริยะติดตาม 24 ชั่วโมง หากน่าเป็นห่วงจะมีกรรายงานให้ทราบ ต่อข้อถามถึงข้อสังเกตว่ารัฐบาลทราบว่าจะมีปริมาณน้ำมาก แต่ไม่ได้เตรียมการพร่องน้ำไว้รองรับ รองนายกฯ กล่าวว่า อย่าไปเขียนว่าไม่เตรียม เพราะรัฐบาลเตรียมการมาหนึ่งเดือนแล้วและสั่งการมาตลอด และมีหลักเกณฑ์ว่าน้ำต้องอยู่ในเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ แต่จังหวะน้ำที่เข้าในช่วง 2-3 วัน มีปริมาณเกินกว่าร้อยล้านลบ.ม.ซึ่งเกินกว่าที่เขื่อนแก่งกระจานจะระบายได้คือ 6-7 ล้านลบ.ม. ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป ขณะเดียวกันถ้าระบายออกมากแล้วเกิดปัญหาแล้งจะทำอย่างไร ฉะนั้นทุกอย่างมีหลักเกณฑ์ไม่ใช่สักแต่ว่าระบาย