เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 5 ส.ค. “นายชยพล ธิติศักดิ์” อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลางกองอำนวยการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก.ได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่าปริมาณน้ำท่าและปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำหลายแห่งอยู่ในระดับสูง ทำให้มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมฉับพลัน ประกอบกับประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าในช่วงวันที่ 5-9 ส.ค. ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นทุกภาค ซึ่งปริมาณฝนสะสมที่เพิ่มมากขึ้น อาจเกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร บก.ปภ.ช.จึงได้สั่งการให้จังหวัดเสี่ยงภัย แยกเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ เพชรบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่พื้นที่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชร รวม 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองเพชรบุรี อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.บ้านแหลม และ อ.แก่งกระจาน ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน วชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ ได้แก่ กาญจนบุรี รวม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสวัสดิ์ อ.ทองผาภูมิ อ.ไทรโยค อ.เมือง อ.ท่าม่วง และอ.ท่ามะกา ขณะที่ จ.ราชบุรี รวม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม และอ.เมือง

สำหรับจังหวัดริมแม่น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจ.บึงกาฬ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เซกา อ.บุ่งคล้า และ อ.เมือง จ.สกลนคร 3 อำเภอ อ.เมือง อ.โพนนาแก้ว และอ.โคกศรีสุพรรณ จ.นครพนม 6 อำเภอ อ.นาแก อ.เรณูนคร อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และอ.ธาตุพนม จ.ร้อยเอ็ด อ.เสลภูมิ ยโสธร รวม 2 อำเภอ อ.ป่าติ้ว และอ.มหาชนะชัย จ.มุกดาหาร 3 อำเภอ อ.หว้านใหญ่ อ.เมือง และอ.ดอนตาล จ.อุบลราชธานี 5 อำเภอ อ.เขมราฐ อ.นาตาล อ.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม และอ.บุณฑริก

อุตุเตือนพายุลูกใหม่
“นายชยพล” กล่าวต่อว่า จากอิทธิพลของ พายุโซนร้อน “เซินติญ” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.-4 ส.ค.2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มใน 27 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก เชียง ใหม่ แม่ฮ่องสอน พิจิตร นครสวรรค์ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ประจวบ คีรีขันธ์ ระนอง เพชรบุรี ลำปาง น่าน อุตร ดิตถ์ อำนาจเจริญ พะเยา เชียงราย กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด และยโสธร รวม 85 อำเภอ 303 ตำบล 1,941 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,701 ครัวเรือน 99,629 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย

ล่าสุด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 18 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 9 จังหวัด รวม 51 อำเภอ 246 ตำบล 1,745 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 34,054 ครัวเรือน 89,241 คน ได้แก่ จ.นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.เรณูนคร อ.ปลาปาก อ.ท่าอุเทน อ.โพนสวรรค์ อ.ธาตุพนม อ.บ้าน แพง อ.นาแก อ.วังยาง อ.ศรีสงคราม อ.นาหว้า และอ.นาทม จ.มุกดาหาร 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ดงหลวง อ.เมือง อ.นิคมคำสร้อย อ.ดอนตาล อ.หว้านใหญ่ อ.หนองสูง และอ.คำชะอี

แม่น้ำโขงยังล้นตลิ่ง
ขณะที่จ.อำนาจเจริญ แม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.เสนางคนิคม อ.หัวตะพาน อ.ลืออำนาจ และอ.ชานุมาน ส่วนที่จ.อุบลราชธานี น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เขมราฐ อ.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม อ.นาตาล อ.ศรีเมืองใหม่ และอ.เขื่องใน ด้านจ.บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขง ล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บุ่งคล้า อ.ศรีวิไล อ.โซ่พิสัย และอ.ปากคาด จ.สกลนคร น้ำท่วม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.โพนนาแก้ว อ.เต่างอย อ.นิคมน้ำอูน อ.เมือง อ.โคกศรีสุพรรณ และอ.พรรณานิคม จ.ร้อยเอ็ด น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เสลภูมิ และอ.โพนทอง

ส่วนจ.กาฬสินธุ์ น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.กมลาไสย และอ.ฆ้องชัย จ.ยโสธร น้ำท่วม 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ไทยเจริญ อ.ป่าติ้ว อ.กุดชุม และ อ.คำเขื่อนแก้ว โดยระดับน้ำเซบายลดลง ส่วนระดับน้ำในลุ่มน้ำชีทรงตัว

อุตุฯเตือนฝนชุกทุกภาค
ด้าน “นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนกรมอุตุ นิยมวิทยา ฉบับที่ 5 เรื่อง “คลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ และฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย” โดยในช่วงวันที่ 5-9 ส.ค.2561 จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนระวังอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม

สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคตะวันออกให้ระวังคลื่นที่พัดเข้าหาฝั่ง เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศ ไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง มีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 9 ส.ค.

คาด 10 ส.ค. น้ำท่วมเพชรสูงสุด
“ดร.ทองเปลว กองจันทร์” อธิบดีกรมชล ประทาน เปิดเผยภายหลังจากการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ชลประทานที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เพื่อติดตามและวางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินความจุว่า ภายหลังจากที่ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน ที่คาดว่าปริมาณน้ำจะล้นทางระบายน้ำฉุกเฉินหรือ สปิลเวย์ ในช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 5 ส.ค. อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งริมแม่น้ำเพชรบุรีได้ นั้น

กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการ เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ ในแม่น้ำเพชรบุรี ที่อาจจะมีระดับน้ำสูงขึ้น โดยได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณ อ.เมือง และอ.บ้านแหลม รวมทั้งสิ้น 30 เครื่อง ปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 14 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี จำนวน 44 เครื่อง ติดตั้งไปแล้ว 14 เครื่อง บริเวณวัดเขาตะเครา และวัดคุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม ส่วนที่เหลือจะเร่งติดตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลต่อไป

สถานการณ์ปัจจุบัน เขื่อนแก่งกระจาน ยังคงระบายน้ำผ่านช่องทางปกติ รวมทั้งใช้กาลักน้ำ และเครื่องสูบน้ำ ในอัตรารวมกัน 111 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.)/วินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำแต่อย่างใด หากน้ำเริ่มล้นทางระบายน้ำล้น คาดการณ์ว่าจะปริมาณน้ำจะสูงสุดในวันที่ 10 ส.ค. รวมเป็นปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานในอัตราประมาณ 210 ลบ.ม./วินาที และเมื่อน้ำไหลลงไปถึงเขื่อนเพชร จะมีปริมาณน้ำสูงสุดที่เขื่อนเพชรในเกณฑ์ 230-250 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน จะใช้เขื่อนเพชรบริหารจัดการน้ำ โดยการหน่วงน้ำและตัดน้ำเข้าระบบชลประทาน และผันออกคลองระบายน้ำ D9 ออกสู่ทะเล ในอัตรา 90 ลบ.ม./วินาที จากนั้นจะระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรในอัตรา 140-160 ลบ.ม./วินาที ลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรี ซึ่งอาจทำให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ และพื้นที่ชุมชนบางแห่งประมาณ 0.20-0.30 เมตร

“บิ๊กตู่”สั่งเร่งช่วยเขื่อนล้น
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำทั่วประเทศโดยเฉพาะที่เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังจากมีโอกาสที่น้ำจะล้นสปิลเวย์หรือทางน้ำล้น และไหลเข้าสู่เขื่อนเพชรบุรีและตัวเมืองเพชรบุรีตามลำดับ ตลอดเส้นทางของน้ำจะทำให้น้ำไหลลงข้างทาง ซึ่งอาจจะกระทบบ้านเรือนริมทางน้ำ รีสอร์ต และพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แก่งกระจาน และอ.ท่ายาง โดยภาพรวมคาดว่าระดับน้ำในปีนี้จะสูงมากกว่าปีก่อนโดยอยู่ที่ประมาณ 80 ซ.ม.ถึง 1 เมตร และจะส่งผลให้น้ำท่วมขังราว 1-2 เดือน ซึ่งนานกว่าปีก่อนที่ขังนาน 1 เดือน

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีผ่านกระทรวงมหาดไทยให้แจ้งเตือนประชาชนที่เตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม โดยขนย้ายทรัพย์สินมีค่าขึ้นที่สูง วางแผนการดำเนินชีวิตในช่วงที่น้ำท่วม ส่วนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เตรียมดูแลช่วยเหลือทั้งเรื่องเส้นทางคมนาคม การสาธารณสุข โรงพยาบาล ไฟฟ้า ประปา รวมถึงจุดอพยพประชาชน อาหารและสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม

ทร.ส่งเรือดันแม่น้ำเพชร
“พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพติดตามสภาพอากาศ และนำกำลังพลและเครื่องมือช่าง เร่งเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มใน 21 จังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง และ 9 จังหวัด ที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย โดยพล.อ.ประวิตรได้กำชับทุกเหล่าทัพ ประสานกับส่วนราชการในจ.เพชรบุรี อย่างใกล้ชิด เฝ้าติดตามสถาน การณ์และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง และอ.เมือง

ด้านกองทัพเรือ “พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ” ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ซึ่งอยู่ระหว่างราชการต่างประเทศ ได้สั่งการอย่างเร่งด่วน ให้ “พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์” รองผบ.ทร. รักษาราชการแทนผบ.ทร. ให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เตรียมลำเลียงเรือผลักดันน้ำ 20 ลำ พร้อมกำลังพลจำนวน 70 นาย ออกเดินทางจากอู่ทหารเรือพระจุล จอมเกล้า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ไปยังจ.เพชรบุรี โดยจะติดตั้งบริเวณปลายแม่น้ำเพชรบุรี เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่ทะเล

ขณะที่หน่วยกู้ภัยสว่างหัวหินธรรมสถาน นำโดย “นายพงษ์ดนัย เทพวนิลกร” หัวหน้าหน่วยกู้ภัย และ “นายรวีโรจน์ แถมมี” รองหัวหน้าหน่วยกู้ภัย พร้อมเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร นำกระสอบและเชือกที่ได้รับบริจาคจากผู้ใจบุญในอ.หัวหิน ไปส่งมอบให้กับทางเทศบาลเมืองเพชรบุรี เพื่อนำไปแจกจ่ายให้พี่น้องชาวเพชรบุรี

3 เขื่อนใหญ่ระบายน้ำเพิ่ม

ที่ จ.กาญจนบุรี ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลของดีเปรสชันและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรี นครินทร์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทางกรมชล ประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) จึงได้ปรับแผนการระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำออกจากเขื่อนทั้งสองแห่งให้อยู่ในระดับเกณฑ์ควบคุมที่สมดุล สำหรับรองรับปริมาณน้ำฝนใหม่ที่จะตกลงมาเพิ่มในช่วงฤดูฝนที่เหลืออีกประมาณ 2-3 เดือน โดยเขื่อนวชิราลงกรณจะปรับเพิ่มการระบายน้ำ จาก 36 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) เป็น 39 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ในวันที่ 5 ส.ค. และปรับเพิ่มเป็น 43 ล้านลบ.ม. ต่อวันในวันที่ 6 ส.ค. ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์จะปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเดิมวันละ 15 ล้านลบ.ม. เป็น 20 ล้านลบ.ม. ในวันที่ 5 ส.ค. ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนแม่กลองมีระดับสูงขึ้น ทางเขื่อนแม่กลองที่เปรียบเสมือนประตูกักเก็บน้ำชั้นสุดท้าย ก่อนระบายลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำจึงต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนให้มากขึ้น

ล่าสุดมีการปรับเพิ่มระดับประตูระบายน้ำของเขื่อนแม่กลอง ให้ได้มากถึง 60 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำ เช่น อ.ท่ามะกา ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณน้ำในแม่น้ำแม่กลองที่อาจสูงขึ้น ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานของพื้นที่ริมตลิ่งที่ได้ รับผลกระทบรุนแรงจากการเพิ่มระดับการระบายน้ำของทั้งสองเขื่อน

เร่งพร่องน้ำแก่งกระจาน
“นายกฤษฎา บุญราช” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมจับตาสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยถอดบทเรียนจากปี 2559-2560 ก่อนเข้าฤดูฝนเสริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ตรวจความแข็งแรง ก่อนเกิดฝนตกหนัก โดยเร่งระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ทั้งเครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำจากทุกหน่วยงาน ตรวจการขึ้นลงน้ำทะเล และวางแผนการเร่งระบายน้ำ

ด้าน “นายสำเริง แสงภู่วงศ์” รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผอ.ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนแก่งกระจานว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บฯ ณ วันที่ 5 ส.ค. เวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำ 701.36 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 100% ปริมาณน้ำไหลเข้า 21.04 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 9.61 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นลงแม่น้ำเพชรบุรี ในวันที่ 5 ส.ค. ยังคงมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ อย่างต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำจะสูงถึงสันทางระบายน้ำล้นกลางคืน

ส่วนสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ และยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ระบายได้ การบริหารจัดการน้ำ เร่งพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและในระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่าง เก็บน้ำโดยกาลักน้ำ/เครื่องสูบน้ำ โดยการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งเตือนจากจังหวัดเพชรบุรี เรื่องน้ำล้นทางระบายน้ำ โดยให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเพชร บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่า ยาง อ.บ้านลาด และ อ.เมือง ทั้งนี้จ.เพชรบุรีได้แจ้งขอรับการสนับสนุนเรือยนต์ผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ จํานวน 20 ลํา

แจ้งบ้านท้ายเขื่อนรับมือ
ส่วนเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 648 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.39 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 3.80 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และ จะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 4.15 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง การบริหารจัดการน้ำ ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน 3.50 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มการระบายน้ำโดยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำอีก 0.3 ล้าน ลบ.ม. การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งและให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลําน้ำอูนและลําน้ำสงครามไหลผ่าน

เขื่อนวชิราลงกรณสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 7,403 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ปริมาณน้ำไหลเข้า 89.29 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณ น้ำไหลออก 36.00 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มลดลง สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ต ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย การบริหารจัดการน้ำ ทยอยเพิ่มการระบายน้ำให้เป็น 43 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ภายในวันที่ 6 ส.ค. พร้อมแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลําน้ำแควน้อยให้ทราบ

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำและลำน้ำ แม่น้ำสายสำคัญ ภาคเหนือ ลําน้ำน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้เฝ้าระวังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลําน้ำสายใหญ่ เริ่มมีระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำล้นตลิ่งในลําน้ำยังบริเวณจ.ร้อยเอ็ด ลําเซบาย จ.ยโสธร และลําน้ำสงคราม จ.นครพนม ภาคกลางและภาคใต้ ปริมาณน้ำในลําน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ประกาศเขตภัยพิบัติ
ที่ จ.แม่ฮ่องสอน “นายสาคร รุ่งเรือง” รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ก.ช.ภ.จ.มส.) ครั้งที่ 2/2561 ได้มีมติเห็นชอบประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค. ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้อำเภอต่างๆ ได้แก่ อ.ขุนยวม ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล 21 หมู่บ้าน อ.เมือง 6 ตำบล 34 หมู่บ้าน อ.สบเมย 6 ตำบล 38 หมู่บ้าน อ.ปางมะผ้า 4 ตำบล 14 หมู่บ้าน อ.ปาย 5 ตำบล 26 หมู่บ้าน อ.แม่สะเรียง 7 ตำบล 46 หมู่บ้าน และอ.แม่ลาน้อย 4 ตำบล 18 หมู่บ้าน รวม 194 หมู่บ้าน

สำหรับราษฎรที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ห่างไกลเส้นทางคมนาคม จำนวนเกือบ ร้อยละ 60 ต้องได้รับผลกระทบจากเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด และดินสไลด์ยุบตัว

เมืองเพชรก่อกำแพงกั้นท่วม
สำหรับการเตรียมรับสถานการณ์ประชาชน ในชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ใต้เขื่อนเพชร บุรี พื้นที่อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และอ.บ้านแหลม ได้สั่งซื้อทรายเตรียมพร้อม ทำกระสอบทรายกันน้ำ รวมทั้งก่อกำแพงกั้นน้ำด้วยอิฐบล็อกป้องกันบ้านเรือนของตัวเอง ในส่วนของภาคราชการเทศบาลเมืองเพชรบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ ที่อยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำใต้เขื่อนเพชร ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมจัดเตรียมกระสอบทราย และกำลังพลไว้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ด้านมณฑลทหารบกที่ 15 ได้ตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 15 จัด กำลังพล 150 นาย ยานพาหนะยกสูง จำนวน 10 คัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนหากเกิดเกิดน้ำท่วม หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 13 ได้ตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 13 สำนักงานพัฒนา ภาค 1 จัดเตรียมกำลังพล 3 ชุด ชุดละ 12 นายไว้ช่วยเหลือประชาชนหากเกิดภัยน้ำท่วม และหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำกรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือ เตรียมเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำ ติดตั้งที่สะพานข้ามแม่น้ำบางตะบูน หน้าวัดคุ้ง ตำหนักตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อผลักดันน้ำลงทะเล รวมแล้วจะผลักดันน้ำได้วันละ 2 ล้านลบ.ม.

“นายเจษฎา วัฒนานุรักษ์” ผอ.ศูนย์ปภ.เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ ปล่อยขบวนเครื่องจักรกล และเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในเขตจังหวัด เพชรบุรี โดยได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 14 นิ้ว อัตราการสูบน้ำ 28,000 ลิตร/นาที จำนวน 1 เครื่องที่ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรีเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังเตรียมเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลจำนวนมากไปช่วยเหลือด้วย

ระดมป้องกันอ่างน้ำเลยแตก
ที่จ.เลย “นายชัยยันต์ สุรสรณ์” นายช่างชลประทานอาวุโส สำนักงานชลประทานทานเลย กล่าวว่า ปัจจุบันได้ระบายน้ำออกวันละ 0.867 ล้านลบ.ม. มีน้ำไหลล้นสปิลเวย์อีก 1,202 ล้านลบ.ม. รวม 2.069 ล้านลบ.ม. ต่อวัน โดยได้เร่งซ่อมประตูน้ำ 1 บาน ที่เสียหายอยู่ ซึ่งขณะนี้ยังถือว่ายังเสี่ยง หากมีปริมาณน้ำหรือฝนตกลงมา ซึ่งน้ำจะเข้ามา ในอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก และจะต้องเร่ง พร่องน้ำให้เหลือที่ร้อยละ 80 อย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมรับน้ำที่เติมเข้ามาในอ่างในอีก 1-2 วันนี้ สำหรับการเร่งรัดสร้างกาลักน้ำเพื่อเพิ่มการระบายน้ำออกโดยวางท่อกาลักน้ำ แผน ตั้งเป้าไว้วันละ 1 ล้านลบ.ม. แต่ออกมาแล้ว ปรากฏว่าท่อกาลักน้ำมีประสิทธิภาพเพียง ร้อยละ 65 จึงระบายน้ำได้เพียง 0.65 ล้านลบ.ม./วัน จึงปรับท่อเหล็ก 12 นิ้ว เพิ่มจาก 4 เป็น 5 แถว

ส่วนที่จ.ชัยภูมิ สถานการณ์น้ำป่าที่ไหลทะลักซัดตัวฝายร้าว “นายณรงค์ วุ่นซิ้ว” ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้รับรายงานเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า พบรอยร้าวขนาดใหญ่จำนวนมากบนสันฝายเก็บน้ำบ้านซับไทรทอง หมู่ 8 ต.แหลมทอง อ.ภักดีชุมพล ซึ่งเป็นฝายขนาดใหญ่ เก็บกักน้ำได้เป็นจำนวนมากหลายสิบล้านลบ.ม. ที่จะรับน้ำไหลผ่านจากเทือกเขาพญาฝ่อ และรอยต่อเทือกเขาพังเหย ก่อนที่จะไหลเชื่อมลงมาที่ลำเชียงทา ในเขตอ.ภักดีชุมพล อ.เทพสถิต และอ.หนอง บัวระเหว ก่อนจะไหลลงเชื่อมต่อสู่ลำน้ำชีผ่านไปอีกหลายอำเภอของจ.ชัยภูมิ ซึ่งฝายดังกล่าวมีความกว้างกว่า 6 เมตร ยาวกว่า 35 เมตร ได้เกิดรอยร้าวลึกภายในจำนวนมากหลายจุดมีความยาวความลึกเข้าไปหลายเมตร และเสี่ยงที่จะแตกเสียหายลงทั้งหมดได้

ชัยภูมิระดมอุดฝายร้าว
ต่อมา “นายณรงค์” ได้ลงพื้นที่พร้อมนายอำเภอภักดีชุมพล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยกันสำรวจความเสียหาย และช่วยนำเครื่องจักร รถแบ๊กโฮ เร่งขุดลอกเปิดทางน้ำจุดใหม่เพิ่มเพื่อช่วยระบายน้ำออกข้างสันฝายแทน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายผลกระทบกับชาวบ้านในจุดนี้นับร้อยครอบครัว และพื้นที่การเกษตรกว่า 1,000 ไร่ จึงฝากแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้คอยติดตามสถาน การณ์การแจ้งเตือนจากทางอำเภออย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมอพยพออกจากพื้นที่ และขนสิ่งของมีค่าออกไปเก็บในที่ปลอดภัยไว้ก่อนในช่วงนี้ด้วย