เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 3 ส.ค. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุม “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต” โดยเปิดเผยว่า สทนช.ตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต” ขึ้นตามคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีคำสั่งให้เปิดศูนย์เฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้เชิญผู้แทนจาก 9 หน่วยงาน อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น วางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน เนื่องจากขณะนี้มีฝนตกจำนวนมาก ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์ควบคุมที่กำหนดไว้ 80-100 % แบ่งเป็น เขื่อน ขนาดใหญ่ 12 แห่ง และขนาดกลาง 103 แห่ง

ช่วงปลายเดือนส.ค.นี้คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้ามาในไทยผ่านภาคอีสานตอนบน และภาคเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดลำน้ำโขง และฝั่งภาคตะวันตก อาทิ จังหวัด ตาก เพชรบุรี อีกระลอก ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำหรือพร่องน้ำออกจากเขื่อนให้มากที่สุดภายใน 10 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนมีปริมาณน้อย เพื่อรองรับปริมาณฝนตกหนักในช่วงกลางเดือนส.ค.เป็นต้นไป โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์สุ่มเสี่ยง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และ 3.เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี

“กรมชลฯ จะเร่งปรับแผนการระบายน้ำในเขื่อน วิเคราะห์พื้นที่ได้รับผลกระทบ ความสูงของมวลน้ำ ก่อนแจ้งไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย (ปภ.) ให้ประชาชนในพื้นที่รับน้ำให้เตรียมตัว โดยขณะนี้กรมชลฯ กำลังเร่งตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากต้องกำหนดจุดระบายน้ำฉุกเฉินในแต่ละเขื่อนให้ได้ โดยจะให้กระทบพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด คาดว่าทุกหน่วยงานจะสรุปแผนดำเนินการเสร็จภายในวันที่ 6 ส.ค. เพื่อเสนอพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป ”