เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 1 ส.ค. 61 เพจข่าวจริงประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลการดำเนินคดีกับผู้กู้เงินกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. โดยระบุว่า กฎหมายใหม่บังคับใช้แล้ว!! อธิบดีกรมบังคับคดี ระบุให้ กยศ.ทวงหนี้ผู้กู้ถึงที่สุด ก่อนทวงกับผู้ค้ำประกัน

ภาพประกอบ

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงกรณีครูผู้ชายที่จังหวัดชัยภูมิซึ่งมีข่าวว่าค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ให้ลูกศิษย์ว่า กองทุนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ได้ตรวจสอบในฐานข้อมูลแล้วไม่พบข้อมูลครูคนดังกล่าวถูกบังคับคดีและไม่มีข้อมูลถูกฟ้องล้มละลายจากการค้ำประกันเงินกู้ กยศ.แต่ยังตอบไม่ได้ว่ามีการถูกฟ้องล้มละลายในคดีอื่นหรือไม่ ซึ่งกรมบังคับคดีได้สอบถามไปยัง กยศ. ยืนยันข้อมูลตรงกันว่า กยศ. ยังไม่เคยฟ้องล้มละลายลูกหนี้ กยศ.รายใดเลย

สำหรับกรณีครูวิภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้สั่งการให้กรมบังคับคดีอำนวยความยุติธรรมให้ พบว่า ที่ผ่านมา กยศ. ดำเนินการตามกฎหมายเก่า โดยหากไม่สามารถตามทรัพย์จากผู้กู้ได้ก็จะตามจากผู้ค้ำประกันซึ่งสามารถติดตามตัวและบังคับคดีได้ง่ายกว่า จึงได้ให้ข้อสังเกตไปยัง กยศ.ว่า

“ขณะนี้กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว กยศ. ต้องทำงานละเอียดมากขึ้นในการติดตามทวงหนี้จากผู้กู้ให้ถึงที่สุดก่อนจะไปบังคับเอากับผู้ค้ำประกัน โดยกฎหมายใหม่ กยศ.สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ไม่ว่าจะเข้าไปอยู่ทำงานในภาครัฐหรือเอกชน ทุกหน่วยงานมีหน้าที่ต้องมอบข้อมูลทรัพย์สินและเงินเดือนของลูกหนี้ให้กับ กยศ.ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการติดตามทวงถามลูกหนี้ให้กับ กยศ.”

ทั้งนี้ กรมบังคับคดีจะนำร่องส่งเงินเดือนของข้าราชการให้กับกรมบัญชีกลางเพื่อหักเงินเดือนผ่อนชำระให้กับ กยศ. ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 200 คน ในภาพรวมการบังคับคดีหนี้ กยศ. ในรอบ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2561 พบว่า กยศ.ได้ทำเรื่องขออายัดเงินเดือน 8,000 คดี กว่า 900 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายใหม่นายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนมีหน้าที่ต้องหักเงินเดือนลูกจ้างที่เป็นหนี้ กยศ.โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมหารือกับกรมการปกครองโดยให้สำรวจข้าราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ลงชื่อรับรองและค้ำประกันหนี้ กยศ. เพื่อเตรียมแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นกับครูวิภาด้วย

กยศ. ตั้งเป้าหักบัญชีชำระหนี้ 1 ล้านราย

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. กล่าวว่า เดือน ต.ค.คมนี้ จะเริ่มหักบัญชีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ของ กยศ.ที่ได้รับเงินเดือนจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลางผ่านระบบ GFMIS และปี 2562 จะเริ่มใช้มาตรการนี้กับพนักงานเอกชนที่เป็นลูกหนี้ของ กยศ. โดยจะเริ่มกับบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานเป็นลูกหนี้ กยศ. กว่า 1 แสนราย

กยศ.ตั้งเป้าว่าในปี 2562 จะมีการหักบัญชีชำระหนี้ กยศ. ได้ 1 ล้านราย ช่วยลดการแก้ไขปัญหาขาดการชำระหนี้ โดยเฉลี่ยลูกหนี้ กยศ.จะปลอดการชำระหนี้ 2 ปีแรก และเริ่มผ่อนชำระในปีที่ 3 เป็นปีแรก 1,500 บาท ปีที่ 2 จำนวน 2,500 บาท และปีที่ 3,000 กว่าบาท เท่ากับยอดหักเงินบัญชีรายเดือนอยู่ที่เดือนละ 100-300 บาทเท่านั้น

ปัจจุบัน กยศ. ปล่อยกู้ให้กับนักเรียนไปแล้ว 5 ล้านราย วงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ปิดบัญชีชำระหนี้ไปแล้ว 1 ล้านราย ผู้กู้ที่เรียนจบอยู่ระหว่างปลอดชำระหนี้ 2 ปี อีก 1 ล้านราย ที่ครบชำระหนี้มี 3 ล้านราย ในจำนวนนี้ชำระหนี้ปกติ 1 ล้านราย และผิดชำระหนี้ 2 ล้านราย ซึ่งการหักเงินชำระหนี้ผ่านบัญชีจะทำให้ยอดการผิดชำระหนี้ที่มีอยู่จำนวนมากลดลงได้

จากข้อมูลของ กยศ. พบว่าปัจจุบันการค้ำประกันผู้กู้เงิน กยศ. 85% เป็นพ่อแม่ อีก 14% เป็นญาติ พี่น้อง ส่วนคุณครูมีสัดส่วนค้ำประกัน 0.1% แต่ กยศ.ยอมรับว่าขณะนี้คุณครูไม่กล้าที่จะค้ำประกันสินเชื่อให้กับนักเรียน เพราะเกรงว่าในอนาคตอาจจะเป็นภาระต้องมาชำระหนี้แทนนักเรียน