เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. เดอะซัน รายงานว่า ที่หมู่เกาะซานโตรินี ประเทศกรีซ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม นับเป็นช่วงท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวนับพันเดินทางมาเที่ยวและขี่ ลา เดินชมรอบๆ เมือง ทว่าด้วยน้ำหนักตัวของนักท่องเที่ยวที่ดูจะมากขึ้นทุกปี ทำให้ลามีอาการเจ็บหลัง ซานโตรินีเป็นสถานที่ที่ผู้คนรู้จักกันดีในการใช้ลาเป็นพาหนะ และเดินทางเข้าไปยังตรอกซอกซอยที่รถเข้าไปไม่ถึง แต่นักปกป้องสิทธิสัตว์อ้างว่า ด้วยน้ำหนักของนักท่องเที่ยวที่มาก และลาถูกบังคับให้ขนสัมภาระน้ำหนักมากติดต่อกันหลายชั่วโมง เป็นเวลาเจ็ดวันโดยไม่ค่อยได้หยุดพักและกินน้ำ ทำให้มันมีอาการเจ็บหลัง และมีแผลจากการวางอานอย่างไม่เหมาะสม

 

 

โฆษกของมูลนิธิช่วยเหลือลาบนเกาะซานโตรินีกล่าวว่า “ขอแนะนำว่าสัตว์ไม่ควรจะต้องแบกของที่มีน้ำหนักเกิน 20 เปอร์เซนต์ของตัวมันเอง น้ำหนักตัวของนักท่องเที่ยว รวมกับน้ำหนักของอานม้าและน้ำที่ลาต้องแบกขึ้นบันไดกรวด 568 ขั้น นับเป็นสาเหตุที่ลาเกิดอาการเจ็บป่วย ควรจะมีกฎเรื่องน้ำหนักได้แล้ว ลาไม่ควรแบกน้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัม แต่ใครจะเป็นคนควบคุมเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นกันล่ะ ตอนนี้คนบนเกาะซานโตรินีได้ทำการผสมลาข้ามสายพันธุ์กับล่อแล้ว เพราะว่าลาไม่แข็งแรงพอ”

 

 

คริสตินา คาลูดี วัย 42 ปี ผู้ก่อตั้งสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งซานโตรินี กล่าวว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เธอสังเกตได้ว่านักท่องเที่ยวที่มาแต่ละปี จากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และอังกฤษ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทุกวัน ลาต้องเดินทางในเมืองฟีราของเกาะซานโตรินี วันละสี่ถึงห้ารอบ ท่ามกลางอุณหภูมิที่มากกว่า 30 องศาเซลเซียส โดยไม่หยุดพัก ไม่มีเครื่องกันแดด และไม่ได้ดื่มน้ำ เธอกล่าวว่า “ฤดูท่องเที่ยวบนเกาะนี้ยาวขึ้นทุกทีกว่าที่มันเคยเป็น หมายความว่าลาต้องทำงานหนักมากขึ้นไปอีก ถ้ามันไม่ได้เป็นพาหนะนักท่องเที่ยว มันก็ต้องขนย้ายสัมภาระที่มีน้ำหนักมาก ลาบางตัวมีเจ้าของที่ดี แต่ลาโดยทั่วไปเมื่อไม่สามารถทำงานได้ มันก็ถูกทิ้ง”

 

 

“ลาเป็นสัตว์ที่ยืดหยุ่น และจะเดินต่อไปเท่าที่มันเดินไหว ดังนั้นเมื่อฉันเห็นลาในสภาพนี้ ฉันนับถือพวกมันมากจริงๆ ฉันมีลา 15 – 25 ตัวที่สมาคมพิทักษ์สัตว์ แต่ฉันดีใจที่ผู้คนพาลามาหาฉัน เพื่อที่มันจะได้ค่อยๆ ตามตามอายุขัย และไม่ต้องถูกฆ่าเพราะว่าเจ้าของไม่ต้องการจ่ายเงินเพื่อฉีดยาให้มันหลับ ลาบางตัวเดินเป็นครั้งสุดท้ายโดยการเดินมาที่นี่ เพราะว่าพวกมันตายภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น”

 

“ผู้คนจำนวนมากไม่สนใจเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ แต่ด้วยโซเชียลมีเดียแล้ว ทำให้มันยากต่อการซ่อนความรุนแรงที่กระทำต่อสัตว์เอาไว้ได้ พวกเราไม่ได้ต้องการให้ชาวท้องถิ่นหยุดการใช้ลา แต่ต้องการให้พวกเขาดูแลมันอย่างมีมนุษยธรรม” สถานที่คุ้มภัยลาในอังกฤษ ที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ยังได้แสดงความกังวลถึงการทำงานหนักของลาบนเกาะซานโตรินี ที่ให้ลาทำงานหนักโดยไม่หยุดพักและดื่มน้ำติดต่อกันหลายชั่วโมง ไม่มีเครื่องบังแดด และต้องแบกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป