เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 61 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

โดยประกาศฉบับดังกล่าว ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26  ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสามารถดําเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา

โดยจุดที่น่าสนใจอยู่ที่การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีระบุไว้ที่มาตรา 102, 103 และ 105

มาตราที่ 102 ระบุว่า ให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

1ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

2ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

3ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ

4ข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งดํารงตําแหน่งตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป

5ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองซึ่งดํารงตําแหน่งตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป

6ข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการซึ่งดํารงตําแหน่งตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป

7ผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูง

8ตําแหน่งอื่นตามที่กฎหมายอื่นกําหนดให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

9ผู้บริหารท้องถิ่นรองผู้บริหารท้องถิ่นผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการป.ป.ช. กําหนด

มาตราที่ 103 เจ้าพนักงานของรัฐตําแหน่งใดจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด

มาตรา 105 การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ยื่นพร้อมหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา โดยในกรณียื่นเป็นเอกสารผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกํากับไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และสําเนาหลักฐานที่ยื่นไว้ทุกหน้า พร้อมทั้งจัดทํารายละเอียดของเอกสารประกอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นด้วย

ทั้งนี้ ทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงรายการ ให้รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินในต่างประเทศ และให้รวมถึงทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว ที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครอง หรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วย

มาตราที่ 106 เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และเอกสารประกอบของผู้ดํารงตําแหน่งตามมาตรา 102 (1) เฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา และบุคคลตามมาตรา 102 (2) (3) (7) และ (9)

รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันที่ครบกําหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว โดยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และเอกสารประกอบ ต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สิน และภาพถ่ายทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จําเป็นหรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด โดยการเผยแพร่ให้กําหนดช่วงระยะเวลาในการดําเนินการที่ชัดเจน

นอกจากนี้ มาตรา 200 กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรก เพื่อมิให้เกิดภาระเกินสมควร ในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 130 จะกําหนดการเริ่มใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละระดับหรือแต่ละประเภทแตกต่างกันตามที่เห็นสมควรก็ได้

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา