เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

สำนักข่าว The Guardian ประเทศอังกฤษ รายงานว่า จากแถลงการณ์ของ น.อ. อนันต์ สุราวรรณ ผบ.กรมรบพิเศษที่ 1 ทหารเรือ ระบุว่าขณะนี้ได้มีการส่งเสบียงอาหารและยารักษาโรค โดยเฉพาะอาหารเจลที่ให้พลังงานสูงและยาพาราเซตามอล เข้าไปยังพื้นที่ที่ทั้ง 13 คน พักรออยู่ โดยเสบียงเหล่านี้มีจำนวนที่เพียงพอสำหรับระยะเวลาอย่างน้อย 4 เดือน และจะมีการฝึกดำน้ำให้ทีมหมูป่าทั้ง 13 คน ขณะเดียวกัน ทีมงานด้านนอกก็พยายามสูบน้ำออก รวมทั้งหน่วยกู้ภัย แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ก็เตรียมเดินทางเข้าสู่ถ้ำหลวงเพื่อช่วยเหลือทีมหมูป่าเช่นกัน

สำหรับสาเหตุที่ต้องให้ทีมหมูป่ารออยู่ในถ้ำเป็นระยะเวลานานนั้น นายปีเตอร์ วูลฟ์ ผู้เชี่ยวชาญและผู้อำนวยการของ Cave Divers Association of Australia ได้เปิดเผยกับ The Guardian ว่าปฏิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้อาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือน เนื่องจากเด็กๆ และโค้ชดำน้ำไม่เป็น “ทางเลือกที่ดีที่สุดคือปล่อยให้ทีมฟุตบอลและโค้ชรออยู่ในถ้ำและทำให้สภาพแวดล้อมนิ่ง เพื่อรอรับเสบียงที่กำลังจะส่งไป และเนื่องจากในถ้ำมีน้ำท่วม ชื้น จึงต้องทำให้ร่างกายแห้งและอบอุ่น รวมทั้งต้องส่งน้ำดื่ม อาหาร และอากาศบริสุทธิ์เข้าไปด้วย” วูลฟ์กล่าว ผู้มีประสบการณ์การดำน้ำในถ้ำมานานถึง 10 ปี กล่าวอีกว่า การกู้ภัยในลักษณะเดียวกันนี้ที่ประสบความสำเร็จ มีเพียงครั้งเดียว คือกรณีที่นักดำน้ำในถ้ำที่มีประสบการณ์ จำนวน 12 คน ติดอยู่ในถ้ำ Pannikin Plains ในออสเตรเลีย เมื่อทศวรรษ 1980s

 

นอกจากนี้ นายเอ็ด โซเรนสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยในถ้ำจากหน่วยงาน International Cave Rescue and Recovery ยังให้สัมภาษณ์กับ BBC โดยเตือนว่า เด็กๆ และโค้ชควรรออยู่ในถ้ำจนกว่าน้ำจะลดลง แทนที่จะพยายามว่ายน้ำออกมาจากถ้ำ ซึ่งอาจใช้เวลานาน แต่ก็เป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด และเสริมด้วยว่า แม้กระทั่งนักดำน้ำที่ได้รับการฝึกอย่างดีและมีทักษะ การว่ายน้ำในถ้ำมืดๆ ที่แทบมองไม่เห็น และน้ำที่ไหลแรงถือว่า “อันตรายมาก” ยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับการฝึกอบรม จะถือว่า “อันตรายอย่างไม่น่าเชื่อ” เลยทีเดียว เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจจะเกิดอาการวิตกจริตเมื่อลงน้ำ ดังนั้น จึงควรรอเป็นระยะเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ เพื่อให้ระดับน้ำลดลง “ตราบใดที่เด็กๆ รู้ว่า เรารู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน พวกเขามีอาหาร มีวิธีการรักษาร่างกายให้อบอุ่น มีน้ำหรือระบบกรองน้ำ รวมทั้งแสงสว่าง ก็ถือว่าปลอดภัยที่จะรออยู่ในถ้ำ และการพาพวกเขาว่ายน้ำออกมาทันทีนั้น นอกจากจะเป็นอันตรายต่อเด็กและโค้ชแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อตัวหน่วยกู้ภัยด้วย” โซเรนสันกล่าวอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ หน่วยกู้ภัยจากสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และจีน กำลังเผชิญกับอุปสรรคด้านการขนส่ง เนื่องจากถ้ำมีระยะทางยาวไกล ทัศนวิสัยที่มองเห็นได้ไม่ชัดเจน และมีหน่วยกู้ภัยเพียงไม่กี่คนที่สามารถดำน้ำและขนเสบียงไปให้ผู้ประสบภัยได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมแนวทางในการเดินทางสู่เป้าหมายและหาทางออก ซึ่งต้องใช้การฝึกฝนและประสบการณ์สูง เพื่อให้สามารถเดินทางภายใต้สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ได้อย่างสะดวก