เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อวานนี้ (วันที่ 22 มิ.ย.2561) เวลา 10.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” รองนายกฯและรมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีที่ฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ใบที่2 ข้อหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยกับกลุ่มกฤษดามหานคร ดำเนินการติดตามได้มากน้อยแค่ไหน ว่า

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อัยการ ศาล รวมทั้งตำรวจสากล เข้ามาร่วมด้วย โดยกระทรวงยุติธรรม จะเป็นส่วนที่เข้ามาประสานงานให้ ส่วนรายละเอียด ขอให้สอบถามจากสตช.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยในช่วงวันและเวลา ที่ “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” รองนายกฯและรมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์นั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ “นายทักษิณ” และ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” สองอดีตนายกรัฐมนตรี ได้พำนักอยู่ที่กรุงลอนดอน เพื่อจัดงานวันเกิดให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ 

โดยเมื่อวานนี้ ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งเเรกในคดีหมายเลขดำที่ อม.44/61ที่ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีให้ความเห็นชอบต่อกระทรวงการคลัง สมัยที่ “ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ” เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ถือเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ

โดยอัยการโจทก์เดินทางมาศาล ส่วนฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดเดินทางมา

องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาเเล้วเห็นว่านายทักษิณ จำเลย ทราบนัดโดยชอบไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อน เห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีจึงให้ออกหมายจับกุมตัวจำเลยเพื่อมาดำเนินคดีตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560มาตรา28 พร้อมให้โจทก์รายงานผลการจับกุม ให้ศาลรับทราบ

และมีคำสั่งให้ร่นระยะเวลาการติดตามตัวจากเดิมที่พ.ร.ป.ด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาตรา 28 วรรคสอง กำหนดไว้ 3 เดือน ก่อนที่จะให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยภายใน 1 เดือน มาตรา 19 วรรค1 บัญญัติว่า ระยะเวลาที่กําหนดไว้ในพ.ร.ป.นี้ หรือในกฎหมายอื่น ที่บทบัญญัติแห่ง พ.ร.ป.นี้นํามาใช้บังคับ หรือในข้อกําหนดของประธาน ศาลฎีกา หรือตามที่ศาลกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความมีคําขอ ศาลอาจย่นหรือขยายได้ ตามความจําเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยในการแต่งตั้งทนายความเพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีแล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจำเลยถูกออกหมายจับในหลายคดี โดยให้ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ติดตามตัวจำเลยมาศาลต่อไป