เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ประหารชีวิต เป็นบทลงโทษสูงสุดของกฎหมาย ในอดีตการกำหนดบทลงโทษที่น่ากลัวนี้ เพื่อต้องการให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษสาสมกับสิ่งที่ทำลงไป และให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นไม่กล้ากระทำผิด สำหรับประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคมไทย สำหรับกรณีการ ประหารชีวิตนักโทษ ที่มีฝ่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเห็นว่าควรจะยกเลิกโทษประหาร เพราะเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แต่ยังมีส่วนมากที่ไม่เห็นด้วยว่าควรยกเลิก เพราะเชื่อว่าคนทำผิดต้องได้รับโทษ

ทางด้าน พระครูศรีนนทวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ หรือพระนักเทศน์นักโทษประหาร ให้สัมภาษณ์ต่อถึงจุดเริ่มต้นว่า เริ่มตั้งแต่ปี 2539 ตอนนั้นยังเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ต้องไปทำกิจแทนเจ้าอาวาสคนก่อน เนื่องจากท่านชราภาพมาก ซึ่งท่านได้สอนขั้นตอนการเทศน์นักโทษประหารเบื้องต้น จำได้ว่านักโทษคนแรกเป็นผู้ชาย ‘คดีมือปืน’ โดยเคยเทศน์สูงสุด 5 คน ในวันเดียว

สำหรับตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดบางแพรกใต้ มีหน้าที่ในการเทศน์นักโทษประหาร รวมทั้งนิมนต์ให้ไปรับศพด้วย เนื่องจากต้องเก็บศพไว้ที่สุสานภายในวัด ซึ่งทางวัดได้แยกสัดส่วนในการบรรจุศพไว้สองส่วน คือส่วนของเรือนจำ (ศพนักโทษ) และของวัด (ศพทั่วไป)

“วันที่จะมีการประหาร ประมาณช่วงเวลา 15.00 น. ทางกรมราชทัณฑ์จะมีหนังสือมาให้ 2 ฉบับ คือ นิมนต์เทศน์ และนิมนต์รับศพ หากวันไหนที่ชาวบ้านเห็นหลวงพ่อ เดินถือตาลปัตรออกจากวัดไปช่วงเย็นๆ ก็จะทราบทันทีว่าวันนี้จะมีการประหารชีวิตนักโทษ”

ทั้งนี้ ก่อนมีการประหาร จะมีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจตคุปเทพารักษ์ (บริวารของพระยม มีหน้าที่จดบันทึกความชั่วร้ายของมนุษย์ที่ตายแล้วเสนอต่อพระยม) และการไหว้หลักประหาร หรือเตียงที่ใช้สำหรับประหารชีวิต เมื่อหลังจากประหารแล้ว วันรุ่งขึ้นศพจะถูกส่งมาทางประตูแดงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ประตูผี’ แต่ถ้านักโทษไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ก็จะถูกนำออกทางประตูอื่นแทน เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจ หากไม่มีญาติมารับกระดูกผู้ตาย หลวงพ่อก็จะเก็บไว้ ซึ่งปัจจุบันยังเก็บอัฐิไร้ญาติไว้บนกุฏิจำนวน 5 ศพ

ส่วนวิธีการเทศนานักโทษประหาร หลวงพ่อกล่าวว่า ไม่เหมือนการเทศน์ทั่วไป เพราะนักโทษประหารจะมีอากัปกิริยา ตื่นกลัวและหวาดหวั่น จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว บางรายมีอาการคลุ้มคลั่งโวยวาย ซึ่งก็มีความสงสารและให้ความเมตตา ก็จะเน้นเทศนาเรื่องการเรียกสติที่กำลังขวัญเสียให้กลับมา เพื่อช่วยให้นักโทษมีจิตใจที่ผ่อนคลายก่อนวินาทีสุดท้ายในชีวิต

“พวกนักโทษที่ต้องโทษคดีมือปืน จะมีจิตใจที่เข้มแข็งมากสุด ไม่ค่อยแสดงความหวาดกลัว เพราะอดีตเป็นนักฆ่ารับจ้าง บางคนเวลาเทศน์การประหาร จะนั่งกรรมฐานเพื่อสงบจิต สงบใจ แต่ถ้าหากเป็นนักโทษคดีข่มขืน จะมีอาการต่างออกไป ทั้งหวาดกลัว คร่ำครวญ เพราะใจไม่แข็งพอ”