เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน (โฆษกกระทรวงแรงงาน) กระทรวงแรงงาน ชี้แจงประเด็นปัญหาการว่างงานของผู้จบปริญญาตรี ตามที่สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี เผยแพร่ข่าว นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยตัวเลขการตกงานของผู้จบปริญญาตรี ซึ่งตกงานสูงกว่าระดับการศึกษาอื่น เพราะมีบางสาขาที่เรียนจบแล้วตลาดแรงงานไม่เปิด

โดยเฉพาะกลุ่มสายสังคมศาสตร์ โดยระบุข้อมูลการจ้างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือน พ.ค. 2561 ยอดคนตกงานที่จบระดับปริญญาตรีมีมากที่สุดคือ จำนวน 170,900 คน เพิ่มขึ้น 9,300 คนจากเดือน เม.ย. 61 ที่มียอดตกงาน 161,600 คน ขณะที่ภาพรวมจำนวนคนตกงาน เดือน พ.ค. 2561 ยังคงมียอดการตกงานเพิ่มขึ้น คือ ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งแต่ละปีมีผู้จบระดับปริญญาตรีเกือบ 800,000 คน

ข้อเท็จจริง : จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาย้อนหลัง 5 ปี (2556-2560) มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีปีละประมาณ 300,000 คน และข้อมูลการจ้างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในเดือนพฤษภาคม 2561 ยอดคนตกงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมากถึง 170,900 คนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีใหม่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเดิม ซึ่งในภาพรวมการตกงานมีหลายสาเหตุ เช่น

1. การเลือกเรียนในสายที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่เป็นการเลือกตามกระแส ค่านิยม หรือเรียนตามเพื่อน ทำให้เกิดปัญหาตกงาน หรือได้งานทำไม่ตรงกับสาขาที่เรียน หรือทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา

2. ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีบางส่วนยังไม่ต้องการหางานทำ เนื่องจากอยู่ในช่วงการตัดสินใจที่จะศึกษาต่อ หรือพักอยู่กับบ้าน

3. ผู้ที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี บางส่วนมีความต้องการเพียงใบรับรองคุณวุฒิเท่านั้น เพราะครอบครัวมีธุรกิจหรืออาชีพที่ต้องการให้บุตรหลานรับช่วงต่อ

4. เป็นผู้ที่ลาออกจากงานเดิม และต้องการเปลี่ยนงานใหม่เพื่อหาประสบการณ์ในการทำงาน

กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการแก้ไขและป้องกันปัญหาการว่างงานในกลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ดังนี้

 

 

1) ดำเนินโครงการสำรวจความต้องการของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถึงระดับปริญญาตรี เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวจัดส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดหางาน คือ สำนักจัดหางานจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และสำนักงานจัดหางานเขตกรุงเทพทั้ง 10 พื้นที่ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในปี พ.ศ. 2561

1.1) มีผู้สำเร็จการศึกษาต้องการฝึกอาชีพ จำนวน 137,263 คน

1.2) ผู้สำเร็จการศึกษาต้องการประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 115,781 คน

1.3) ผู้สำเร็จการศึกษาต้องการไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 89,659 คน

1.4) ผู้สำเร็จการศึกษาประสงค์จะรับงานไปทำที่บ้าน จำนวน 70,694 คน

2) เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานเป็นประจำทุกเดือน ประมาณ 3,000 ฉบับ หรือปีละ 36,000 ฉบับ รวมทั้งได้มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ กรมการจัดหางาน www.doe.go.th

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มของผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่ โดยการรวบรวมตำแหน่งงานว่างของนายจ้าง/สถานประกอบการต่าง ๆ ที่มีความต้องการจ้างงานผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี

 

 

การเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานในปัจจุบัน รวมทั้งการทดสอบความพร้อมทางอาชีพ เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกตัดสินใจสมัครงานหรือประกอบอาชีพอิสระต่าง ๆ ซึ่งสามารถเลือกใช้บริการจากกรมการจัดหางาน เพื่อการมีงานทำในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

1.ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center)

2.สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10

3.สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ

4.รถบริการจัดหางานเคลื่อนที่ (Mobile Unit)

5.www.doe.go.th/Smartjob

6.Smart Job Center Application By Smartphone

นอกจากนี้ กรมการจัดหางานยังได้มีบริการแนะแนวอาชีพ แก่นักเรียนที่จะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาได้ทราบถึงอาชีพและลักษณะอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเลือกสาขาที่เรียนต่อระดับปริญญาตรี ที่มีตลาดแรงงานรองรับอีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศที่นายจ้างต้องการตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 180,180 อัตรา ในจำนวนนี้เป็นระดับปริญญาตรี จำนวน 22,345 อัตรา ฉะนั้น ขอให้นักเรียน นักศึกษา ผู้ว่างงาน หรือผู้ที่กำลังจะหางานทำมั่นใจได้ว่า กระทรวงแรงงานจะยังคงดำเนินการส่งเสริมการมีงานของคนไทยทุกกลุ่มในทุกรูปแบบไปอย่างต่อเนื่อง

โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกมีกระบวนที่ทันสมัย สอดคล้องตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้อย่างมั่นคง