เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อวานนี้  ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่งคดีแบบกลุ่มผู้บริโภค กรณีผู้เสียหายที่ใช้รถยนต์ฟอร์ด 308 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย ) จำกัด บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย ) จำกัด บริษัท ฟอร์ดโอเปอเรชั่นส์ จำกัด และบริษัท ฟอร์ด เซอร์วิส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 – 4 เรื่องละเมิด กรณีที่บริษัทจำเลยนำรถยนต์ฟอร์ดที่เกียร์ชำรุดบกพร่องออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภค จนเกิดความเสียหาย

นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความ เปิดเผยว่า มีผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า รุ่นโฟกัส และรุ่นอีโค่สปอร์ต ประสบปัญหาระบบเกียร์เพาเวอร์ชิฟต์ 6 สปีด จนรวมตัวกัน 308 ราย ยื่นฟ้องเรียกร้องความเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2560 ต่อมา บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จำเลยที่ 2 ยอมรับว่า เป็นผู้สั่งซื้อและสั่งผลิต โจทก์จึงถอนฟ้องเฉพาะบริษัท จำเลยที่ 1, 3 และ 4 เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดี คงเหลือบริษัท จำเลยที่ 2 เท่านั้น

 

ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้รับฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งจะมีหลายรูปแบบ เช่น คดีแบบกลุ่มสิ่งแวดล้อม คดีแบบกลุ่มแรงงาน ส่วนคดีนี้เป็นคดีกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งในตอนแรกมีผู้เสียหายร่วม 400 ราย แต่ศาลก็เปิดโอกาสให้มีการไกล่เกลี่ย บางรายก็ไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ บางรายก็ออกจากกลุ่มไป จนเหลือผู้เสียหายในคดีผู้บริโภคที่ศาลสั่งรับไว้ดำเนินคดี 308 ราย ที่จะได้รับความคุ้มครองและดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยได้นัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในวันที่ 1 ส.คนี้ นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 30 – 31 ส.ค.นี้ โดยนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

ด้าน น.ส.ฌนิฏา สุขขวัญ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากรถยนต์ฟอร์ดในนาม “กลุ่มเหยื่อรถยนต์” กล่าวว่า เป็นวันที่พวกตนรอคอย หลังจากยื่นฟ้องต่อศาลมานานกว่า 1 ปี และรู้สึกดีใจมากที่ศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดรุ่นเดียวกันในหลายประเทศก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน ขณะที่การต่อสู้ของผู้บริโภคที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าแม้เราจะมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐอย่าง สคบ. แต่ผู้บริโภคก็ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง จนเป็นคำถามที่คาใจสมาชิกในกลุ่มมาตลอดว่า สคบ.คุ้มครองใคร ทำให้เราเลิกหวังกับหน่วยงานของรัฐ และหันมาต่อสู้ปกป้องสิทธิของตัวเองด้วยตัวพวกเราเอง