เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

“สันธนะ” พร้อมร้องขอความเป็นธรรม ยอมรับมีหลายเรื่องให้ ตร. พิจารณาเข้าข่าย “ถอดยศ” หรือไม่ ยืนยัน ไม่หยุดเคลื่อนไหว เตรียมแถลงข่าวกับสื่อมวลชน 21 พ.ค. นี้

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 61 พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาบริษัทพัฒนาตลาดใหม่ดอนเมือง บอกถึงกรณีที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีการพิจารณา ถอดยศ ว่า ขณะนี้ทราบว่าอยู่ในระหว่างการพิจารณา และหากจะมีการถอดยศจริง ก็มีสิทธิ์ที่จะขอยื่นร้องความเป็นธรรม เพราะตามขั้นตอนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีอำนาจในการถอดยศเองได้

ทั้งนี้ เงื่อนไขการพิจารณาถอดยศ จะมีด้วยกัน 7 ข้อ แต่เบื้องต้นตนมองว่า น่าจะยังไม่เข้าข่ายกับตนเอง ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าจะหาเรื่องใดมาพิจารณาหรือไม่ และมีข้อสรุปมาอย่างไร เพราะที่ผ่านมาตนเองก็มีหลายเรื่อง พ.ต.ท.สันธนะ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ สน.โชคชัย ออกหมายเรียกบิดาและมารดาของตนเอง ในฐานะให้ที่พักพิงผู้ต้องหานั้น ทางทนายความแจ้งว่า ตำรวจได้ยกเลิกหมายเรียกแล้ว ทำให้รู้สึกสบายใจที่บิดาและมารดาไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และยืนยันว่า จะไม่หยุดเคลื่อนไหวแน่นอน โดยจะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อไป ซึ่งจะมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในวันที่ 21 พฤษภาคม นี้

นายอภิชาติ ครัวเชื้อ ทนายความส่วนตัว พ.ต.ท.สันธนะ บอกว่า เจ้าหน้าที่อาจจะมีการพิจารณาในการถอดยศ พ.ต.ท.สันธนะ ตามหลักกฎหมาย แต่หากคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ก็ไม่สามารถถอดยศได้ และเรื่องนี้ พ.ต.ท.สันธนะ ก็ยังไม่ได้มีการมาปรึกษาถึงแนวทางการต่อสู้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากอยากจะถอดยศ เจ้าหน้าที่ก็คงหาข้อผิดมาเพื่อทำการถอดยศจนได้

สำหรับการถอดยศข้าราชการตำรวจ ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 ระบุว่า ผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ มิฉะนั้นย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะโดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม
(2) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
(3) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต
(4) กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
(5) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
(6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
(7) ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ