เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคดิจิตอลที่มีสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต บวกกับมีอินเทอร์เน็ตก็สามารถเชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกันได้ทั้งการค้นหาข้อมูล การเสพสื่อ ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน แม้จะดูว่าโลกออนไลน์สะดวกสบายและง่ายกว่าเพราะทุกอย่างจบได้แค่ปลายนิ้วแต่ในความสะดวกนั้นอาจจะไม่ได้มีแต่ด้านดีเสมอไป เพราะทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ โลกออนไลน์เองก็เช่นกัน เพราะยิ่งมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเท่าไหร่สถิติอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ก็มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งภัยเหล่านี้ก็มาในหลากหลายรูปแบบเลยล่ะ

อย่างที่เราเห็นการโฆษณาบ่อยๆ บนโลกออนไลน์ “อาชีพเสริม งานฝีมือทำที่บ้าน รายได้ดีลงทุนน้อย เงินดี ค่าสมัครไม่แพง สามารถทำได้ทุกเพศ-ทุกวัย ไม่จำเป็นต้องเคยทำมาก่อน เหมาะกับผู้ที่ต้องการอยากหารายได้เสริม ทำงานที่บ้านได้ แม่บ้าน คนท้อง บุคคลทั่วไป สนใจร่วมงานติดต่อทางกลุ่มได้เลยค่ะ”

คำพูดโน้มน้าวใจชวนเชื่อจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าหัวใส ที่โฆษณาจุดประกายความโลภและรักสบาย จนทำให้ใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่ว่างงาน อยู่บ้านเฉยๆ อดใจไม่ได้ที่จะกระโดดลงไปร่วมกับอาชีพประเภทนี้

หนึ่งในนั้นที่กลายเป็นประเด็นคือ “คัดแยกหนังยาง” ที่ถูกแฉออกสื่อ เพราะหลอกลวงให้โอนค่าสมัคร สุดท้ายติดต่อผู้จ้างงานไม่ได้ มีผู้เสียหายกว่า 1,500 คน และสูญเสียเงินกว่า 1,000,000 บาท


ไม่เพียงเท่านี้ นอกจากคัดแยกหนังยางแล้ว ยังมีธุรกิจอีกหลายประเภทที่มาในรูปแบบไม่ต่างกัน และเข้าข่ายหลอกหลวงผู้บริโภค โดยจะต้องโอนค่าสมัครสมาชิกก่อนถึงจะได้งานกลับไปทำที่บ้าน ก่อนที่จะหลงเชื่อและมานั่งเสียใจภายหลังว่าโดนหลอก มารู้จักกับธุรกิจที่เข้าข่ายและควรระวัง 5 ประเภทที่พบมากที่สุด

1. “รับจ้างเขียนงาน” มีทั้งเขียนใบปลิวและเขียนรายงาน โดยลักษณะงาน ต้องเขียนให้ได้ 50 แผ่น ถึงจะได้เงิน 400 บาท แต่ต้องเสียค่าสมัคร 100 บาท แต่ต้องมีข้อแม้ว่า งานที่เขียนนั้นต้องเรียบร้อย อ่านออก ตัวหนังสือต้องพอใช้ได้ 
และมีการตั้งกลุ่มคนสำหรับตรวจงานอีกด้วย นี่อาจจะเป็นกลวิธีที่เรียกว่า “ไม่ได้โกง แต่หัวใส” ของคนเหล่านี้ เมื่อสมาชิกส่งงานให้ ก็บอกงานงานไม่ผ่าน ไม่ได้รับค่าจ้าง

2. “แยกกระดุม-ลูกปัด” ลักษณะงาน ให้แยกสีกระดุมและลูกปัด สีเดียวกันให้เอาไว้ในถุงเดียวกัน ค่าแรง 100-130 บาท แต่มีข้อแม้ ต้องเสียค่าสมัคร 500-550 บาท 
และยังมี “แพ็คลูกปัด” ค่าสมัคร 450 บาท ค่าแรง 100 บาท โดยมีข้อแม้จะไม่คืนค่าสมัครทุกกรณี รายละเอียดงานน้อยมาก และที่น่าผิดสังเกตคือ ทั้งแยกและแพ็ค ตกลงต้องการงานในรูปแบบใด

3.“พับกระดาษ” มีทั้งพับนกและดาว ลักษณะการเชิญชวน ชี้ไปกลุ่มเป้าหมายที่ชอบงานแฮนด์เมด งานประดิษฐ์ บอกว่าทำเป็นอาชีพเสริม สามารถทำได้ทุกคนไม่จำกัดอายุ ไม่ต้องห่วงว่าจะทำไม่เป็นเพราะมีการสอนขั้นตอนวิธีการทำงานให้ก่อนลงมือทำ 
โดยมีรายละเอียดคือ 1. งานพับดาวกระดาษ ค่ามัดจำ 450 บาท (ค่าจ่าง 100 ดวง / 10 บาท) 2. งานพับนกกระดาษ ค่ามัดจำ 420 บาท (ค่าจ่าง 100 ตัว / 10 บาท)

 


4. “ปักครอสติส” ลักษณะงาน ผู้รับงานต้องจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นค่ามัดจำก่อน 500 บ้าง 100 บ้างตามขนาดและลวดลายที่รับมา โดยเงินมัดจำจะคืนให้ เมื่องานเสร็จและผ่านเรียบร้อยแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ข้อกำหนดในการทำงานเองก็มีความจุกจิกมาก 
เช่น ลายด้านหน้าและหลังต้องเหมือนกัน ห้ามขมวดปม ปักเสร็จต้องไม่เห็นเนื้อผ้าสีขาว ห้ามไม่ให้ไหมตึงหรือหย่อนเกินไป เรียกได้ว่างานมีสิทธิ์ทำแล้วไม่ผ่านเยอะมาก และหากพิจารณาดีๆ จะรู้ว่าทำไปก็ไม่มีทางได้เงินแน่ ๆ เพราะอย่างไรเขาก็ต้องหาที่ติเพื่อจะไม่คืนเงินมัดจำให้เราอยู่แล้ว 

5.“ปักเฟรม” มีการโพสชักชวนในเพจ “หางานทำที่บ้าน” โดยมีคำชักชวนที่โน้มน้าว บอกว่า เป็นงานง่าย ๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ทางร้านมีหน้าร้านและ มีใบทะเบียนพาณิชย์ มีค่าประกันงาน แต่จะได้คืนเมื่อทำครบ และร้านจะส่งงานให้ทำ 20 รอบ/ 1 มัดจำ อุปกรณ์ฟรี 
สมัครครั้งเดียวทำได้ตลอด ไม่มีกำหนดวันส่งงาน ส่งงานถึงร้านไม่ต้องรอตรวจงาน รอรับงานรอบใหม่ได้เลย ค่าจ้างสูงสุดถึงแผ่นละ 10 บาท หรือ 500 บาท/ต่อรอบ ร้านจะคืนค่าส่งให้พร้อมค่าจ้างแต่ละรอบ

ผู้เสียหายนับแสน สูญเงินกว่า 40 ล้าน!

“เตือนภัย! รับงานเสริมไปทำที่บ้านอันตราย ผู้เสียหายเกือบแสนคนกับวงเงินร่วม 40 ล้านบาท” 
อีกหนึ่งกรณีที่ผู้เสียหายออกมาตั้งกระทู้เตือนภัยสำหรับคนที่อยากหางานทางออนไลน์แต่กลับถูกหลอกให้โอนค่ามัดจำในลักษณะเดียวกัน เช่น เจ้าของกระทู้ที่ใช้ชื่อว่า “Read all about it” โดยเล่าถึงรายละเอียดว่ามีงานอะไรบ้าง เช่น  งานปักครอสติช พับนกกระดาษ พับดาวกระดาษ และอื่นๆ

ในส่วนรายละเอียดของงาน แต่ละงานจะมีค่ามัดจำ 600 บาท และต้องโอนค่ามัดจำให้ตัวแทนก่อนถึงจะได้งานไปทำ และอ้างว่า คนรับงานเยอะ ต้องมีตัวแทนดูแล เลยต้องมีค่ามัดจำให้ตัวแทนพอเงินไปถึงร้าน ร้านจะส่งงานมาให้เราทำที่บ้าน 

โดยจะแนบในสัญญามาให้หนึ่งใบ พอทำงานเสร็จเราก็ส่งกลับที่เดิม แล้วเขาจะแนบเงินพร้อมงานรอบต่อไปมา และบังคับให้ทำครบ 10 ครั้ง ถึงจะคืนค่ามัดจำ


“แรกๆพอรับงานมา เราส่งงานกลับไปไม่เกิน 2 อาทิตย์จะได้งานได้เงินกลับมา ต่อมาก็เลือนไปเป็น 3 อาทิตย์ ต่อไปก็เป็นเดือน ครั้งสุดท้ายคือ 2 เดือนถึงจะได้งาน ลองคิดดูใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะครบ 10 ครั้ง? ปีหนึ่งก็ไม่จบหรอก ถ้าอยากมีงานทำไม่ขาดมือก็ต้องเปิดเมมเบอร์เพิ่มไงคะ ทางร้านอ้างว่าที่ช้าเพราะต้องตรวจงาน สมาชิกเพิ่มขึ้นเยอะมาก ตรวจงานไม่ทัน ผู้ช่วยลาออก

แต่ในที่สุด ร้านก็เงียบหายไป คนก็ไปถล่มว่าทำไมไม่จ่ายเงิน ทำไมไม่ส่งงานมาให้ ถล่มทั้งตัวแทนร้านและหน้าเพจร้านแต่ได้รับความเงียบแทนคำตอบ ได้ข่าวว่าหนีหายไปไหนแล้วก็ไม่ทราบ มีคนไปตามที่บ้านก็ไม่เจอเลย”

เหยื่ออีกรายหนึ่งที่เจอในลักษณะเดียวกัน บอกเล่าผ่านกระทู้ที่ชื่อว่า “ระวังอาชีพเสริม รับงานมาทำที่บ้าน” ผู้ตั้งกระทู้เล่าว่า ไปเห็นเพจหนึ่งในเฟซบุ๊กที่ลงใน เว็บ pantip parttime โดยละเอียดอกว่า “งานฝีมือ อาชีพเสริม งานแพ็คยางรัดผมค่าจ้างถุงละ 1 บาท รายได้ดี ถ้าสนใจทิ้งข้อความไว้ด้านล่าง” 

เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ ทิ้งเบอร์โทรไว้ด้านล่าง ผู้ว่าจ้างหัวใสจึงโทรไปและแจ้งรายละเอียดต่างๆ ว่าจะส่งของให้ทำ แต่ต้องมีค่ามัดจำ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ และโอนเงินไปให้ ผู้ว่าจ้างจะไม่ส่งของให้ และพยายามเบี่ยงเบนไปว่า ตัวแทนมีมากต้องรอคิว และสุดท้ายก็เชิดเงินหายไป ไม่สามารถติดต่อได้

“เขาบอกผมว่า ทำ 100 ถุง จะได้เงิน 70 บาท แต่เสียค่ามัดจำ 990 บาท ด้วยความที่อยากได้เงินมาก ผมจึงหลงเชื่อและโอนเงินให้เขา หลังจากนั้นผมก็ทักถามว่าส่งของให้ยัง เขาอ่านแต่ไม่ตอบ และหลังจากวันที่โอนเงิน 5 วัน ผมจึงโทรถาม แต่เขาไม่รับ สุดท้ายเขาหนีหายและปิดเครื่องบล็อกเบอร์ผมไปเลย”

ผู้เสียหายที่ถูกหลอก ต่างตั้งข้อสงสัยว่า การกระทำในลักษณะนี้ถือว่าผิดกฎหมายใช่ไหม และสามารถเอาผิดและร้องเรียนได้ที่ไหน ทางทีมข่าว ผู้จัดการ Live จึงได้สัมภาษณ์ไปยัง นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยเหล่านี้


โดย สคบ. ชี้แจงว่า จากกรณีที่หลอกให้โอนเงินค่ามัดจำแล้วไม่ส่งงานให้ทำแล้วหนีไป เข้าข่ายการโกง เพราะหลอกให้เสียทรัพย์ และต้องแจ้งความเอาโทษกับผู้ที่กระทำผิด นอกจากนี้ การนำเข้าข้อมูลยังเป็นเท็จ แต่คนที่จะไปตรวจสอบและดำเนินคดีได้คือ ตำรวจ เพราะเป็นคดีอาญาที่เป็นเรื่องการโกง 

ด้าน สคบ.คนเดิมแนะนำว่า หากพบเจอกรณีดังกล่าว สามารถร้องเรียนและแจ้งความได้ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายโดยมุ่งเน้นการอำนวยความยุติธรรม ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบริการประชาชน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดให้ต้องมีการแสดงตัวตนของคนประกอบธุรกิจ จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ ถ้าเป็นการขายสินค้าแบบขายตรง ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะฉะนั้น คนที่จะเข้าไปทำการค้ากับคนเหล่านี้ สามารถตรวจสอบได้เลยว่ามีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่

“ปัจจุบันคนไทยมีการทำมาหากินที่หลากหลาย เป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพเข้ามา เมื่อใดที่เทคโนโลยีมากเท่าไหร่ เมื่อนั้นก็ทำให้เกิดมิจฉาชีพมากเท่านั้น อยากให้หน่วยงานรัฐฯ สร้างแรงจูงใจให้ผู้ทำธุรกิจออนไลน์ไปจดทะเบียนให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค 

ฝากถึงคนไทย ให้คำนึงว่า งานที่ทำง่ายๆ ได้เงินเยอะมีจริงหรือ ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนหลงเชื่อ ถ้าเป็นเรื่องที่ง่าย ให้คิดก่อนเสมอว่า อาจถูกหลอกได้ง่ายเช่นกัน ควรตรวจสอบให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งน้ำตาตกในภายหลัง”