เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อคืนวันศุกร์ ที่ 10 ธันวาคม พายุทอร์นาโดหลายสิบลูกถล่ม 6 มลรัฐเขตมิดเวสต์ของสหรัฐเป็นระยะทางกว่า 320 กิโลเมตร ทำลายเมืองในรัฐเคนทัคกีราบเป็นหน้ากลอง คาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน

 

สภาพอาคารบ้านเรือนที่โดนทอร์นาโดทำลายราบในเมืองเมย์ฟีลด์ รัฐเคนทัคกี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2564 (Getty Images)

 

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2564 กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์พายุของสำนักงานบริการสภาพอากาศแห่งชาติ ได้รับรายงานว่าเกิดพายุหมุน 36 ลูก ที่รัฐอิลลินอยส์, เคนทัคกี, เทนเนสซี, มิสซูรี, อาร์คันซอ และมิสซิสซิปปี

ความรุนแรงของลมพายุได้ทำลายสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ รวมถึงโรงงานหลายแห่ง และทำให้ขบวนรถไฟ 27 ตู้ตกราง ใกล้เมืองเออร์ลิงตัน รัฐเคนทัคกี

รัฐเคนทัคกีรัฐเดียวมีรายงานเบื้องต้นว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 คน ส่วนมากเป็นคนงานของโรงงานผลิตเทียนไขในเมืองเมย์ฟีลด์ที่พังถล่มราบคาบ แอนดี บีเชียร์ ผู้ว่าการรัฐกล่าวว่า ขณะเกิดพายุ มีคนงานกะดึกเร่งผลิตสินค้าสำหรับเทศกาลคริสต์มาสทำงานอยู่ 110 คน เจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตออกมาได้ 40 คน และคงเป็นปาฏิหาริย์หากพบผู้รอดชีวิตอยู่ใต้ซากโรงงาน

 

หน่วยรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินค้นหาและกู้ภัยที่ซากอาคารโรงงานเมย์ฟีลด์คอนซูเมอร์โพรดักส์ที่พังถล่ม (Getty Images)

 

บีเชียร์ประกาศภาวะฉุกเฉินในรัฐเคนทัคกี เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า “การทำลายล้างที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อนในชีวิตจนบรรยายเป็นคำพูดไม่ได้ เมืองเมย์ฟีลด์และตลอดเส้นทาง 365 กิโลเมตรที่ทอร์นาโดลูกใหญ่เคลื่อนผ่าน ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในรัฐเคนทัคกี ถูกทำลายราบ มีความเป็นไปได้มากว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน ที่เคนทัคกีนี่”

ส่วนทางการท้องถิ่นรัฐอิลลินอยส์ระบุว่ามี ผู้บาดเจ็บจำนวนมากจากเหตุพายุพัดหลังคาบางส่วนของโกดังของบริษัทแอมะซอน อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ พังเสียหาย

 

 

 

 

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้อนุมัติการประกาศภาวะฉุกเฉินที่เคนทัคกี กล่าวว่า “ระบบพายุครั้งนี้เป็นหนึ่งในครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกามันเป็นโศกนาฏกรรม” ผู้นำสหรัฐแถลงทางโทรทัศน์ พร้อมกับให้คำมั่นว่า “จะสนับสนุนรัฐที่ประสบภัยในครั้งนี้ เรายังคงไม่รู้ว่ามีคนเสียชีวิตจำนวนมากเท่าใด และขอบเขตความเสียหายทั้งหมดเป็นเท่าใด”

ไบเดนกล่าวด้วยว่า “เขากำลังร้องขอไปยังสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้ตรวจสอบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกส่งผลต่อการเกิดพายุรุนแรงครั้งนี้หรือไม่ ทั้งยังตั้งคำถามถึงระบบเตือนภัยทอร์นาโดของสหรัฐด้วย”

 

 

นักพยากรณ์อากาศกล่าวว่า “ระบบพายุหมุนรุนแรงครั้งนี้เป็นเรื่องผิดปกติสำหรับฤดูหนาวของสหรัฐ ต้นกำเนิดของพายุทอร์นาโดครั้งนี้มาจากพายุฝนฟ้าคะนองหลายครั้งในชั่วข้ามคืน รวมถึงพายุซูเปอร์เซลล์ที่ก่อตัวทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐอาร์คันซอ พายุนี้เคลื่อนจากอาร์คันซอผ่านมิสซูรี เข้าสู่รัฐเทนเนสซีและเคนทัคกี”

วิกเตอร์ เจนสินี อาจารย์ด้านภูมิศาสตร์และบรรยากาศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ กล่าวว่า “ความชื้นและอุณหภูมิที่สูงผิดปกติสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่เกิดในช่วงเวลาปลายปีเช่นนี้”

 

 

ทอร์นาโดที่เคนทัคกีทำลายล้างเป็นระยะทาง 227 ไมล์ (365 กิโลเมตร) แต่ก่อนหน้านี้เคยมีบันทึกว่ามีทอร์นาโดที่กวาดล้างพื้นที่ในรัฐมิสซูรีเป็นระยะทาง 219 ไมล์เมื่อปี 2468 คร่าชีวิตคนถึง 695 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง