เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมสั่งการการรถไฟแห่งประเทศไทย.( รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจับโจรลักตัดสายสัญญาณรถไฟฟ้าสายสีแดง ผ่านไปประมาณ 1 ชม.
ล่าสุดนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรฟท.เปิดเผยว่า ได้มอบหมายนายสถานีรถไฟรังสิต แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฯ ว่าสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้ว 1 ราย คือนายอรรณพ คำพรมมา อายุ 31 ปี อยู่ระหว่างสอบสวนขยายผลจับกุมเพิ่มเติม เบื้องต้นได้รับแจ้งมีการก่อเหตุลักสายเคเบิลทั้งสิ้น 8 จุด ส่วนมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการประเมิน
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบการลักลอบตัดสายเคเบิล ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการแก่ประชาชน แต่อาจทำให้การเดินรถสายสีแดงมีความช้าลงบ้าง หลังจากนี้ รฟท. จะเร่งประสานข้อมูลกับตำรวจเพื่อติดตามขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ทางผู้บังคับการตำรวจรถไฟและฝ่ายสืบสวน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งชุดสืบสวนเพื่อติดตามคนร้ายและทรัพย์สินของ รฟท.เป็นการเฉพาะ โดยมีบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งให้บริการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง และบริษัทรักษาความปลอดภัย จัดชุดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนและสุ่มตรวจในพื้นที่เสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาในระยะยาว ทาง รฟท. ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำจัดวัชพืชตลอดแนวรั้วให้โล่ง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสอดส่องดูแลอย่างทั่วถึงและป้องกันไม่ให้ใช้เป็นพื้นที่ก่อเหตุ นอกจากนี้เร่งซ่อมแซมรั้วที่ได้รับความเสียหายและเสริมแนวรั้วป้องกันเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมเพื่อเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง
นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้ติดตามดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างถึงที่สุด ทั้งทางแพ่งและอาญา โดยให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย คดีเป็นความผิดคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ซึ่งได้รวบรวมค่าเสียหายส่งพนักงานสอบสวนเพื่อให้พนักงานอัยการเรียกค่าเสียหายรวมในคดีอาญาแล้ว นอกจากนี้จะดำเนินคดีที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่รฟท. และก่อกวนให้เป็นอุปสรรคการเดินรถ รวมถึงการก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินทางราชการ
ทั้งนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.จัดวางทางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 มาตรา 84 ได้ระบุผู้ใดที่เข้าไปในที่ดินรถไฟนอกเขตที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าออก ถือมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น 1 และมาตรา87 ระบุไว้ว่า ผู้ใดทำให้รถ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือสิ่งใดๆ อันเป็นทรัพย์สินของรถไฟเสียหายหรือชำรุด มีความผิดฐานลหุโทษต้องระวางโทษชั้น 1
นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ระบุว่า ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์เขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกันยังเข้าข่ายคดีทำลายทรัพย์สินทางราชการ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 231 ระบุว่าผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ให้ประภาคาร ทุ่น สัญญาณ หรือสิ่งอื่นใดซึ่งจัดไว้เป็นสัญญาณเพื่อความปลอดภัยในการจราจรทางบก การเดินเรือ หรือการเดินอากาศ อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายการจราจรทางบกการเดินเรือ หรือการเดินอากาศ
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามรฟท.ไม่ได้ดำเนินคดีในข้อหาก่อวินาศกรรมตามที่รมว.คมนาคมสั่งการ