เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

การบริจาคร่างกาย เพื่อการศึกษา

เป็นการอุทิศร่างกายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ศึกษาส่วนต่างๆของอวัยวะในร่างกาย ซึ่งเสียชีวิตจากสาเหตุธรรมชาติ มีอวัยวะสมบูรณ์ ยกเว้นบริจาคดวงตา หลังจากเสียชีวิตแล้วต้องแจ้งให้ไปรับร่างกายภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากการศึกษาซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปี จะมีการทำพิธีบำเพ็ญกุศลอาจารย์ใหญ่ให้ แต่มีขอบเขตการรับอุทิศร่างกายจำกัด เช่น รับเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพ และ ปริมณฑล

การอุทิศร่างกาย ควรแจ้งทายาท ดังนี้
1.ท่านได้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ไว้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
2.ทายาทมีสิทธิ์ในการยกเลิกการอุทิศร่างกายของท่านได้โดยชอบธรรม โดยทางโรงพยาบาลจะไม่มีการเรียกร้องสิทธิ์ใดๆ
3.ทายาทต้องแจ้งทางโรงพยาบาลเรื่องการเสีบชีวิตโดยเร็วที่สุดและร่างกายจะต้องถึงโรงพยาบาล ภายใน 20 ชั่วโมง หลังจากเสียชีวิต ควรใช้ถุงน้ำแข็งอย่างน้อย 2 ถุงวางบนหน้าท้องแล้วคลุมด้วยผ้าห่มแล้วจึงนำส่ง
4.โรงพยาบาลจะจัดเจ้าหน้าที่ไปรับร่างที่อยู่เขต กทม. และ ปริมณฑล

โรงพยาบาล ไม่สามารถรับร่างผู้อุทิศร่างกาย ในกรณีต่อไปนี้
– ผู้อุทิศร่างกายฯ ที่ถึงแก่กรรม เกิน 20 ชั่วโมง ยกเว้น ได้เก็บไว้ในห้องเย็นของโรงพยาบาล
– ผ่านการผ่าตัดใหญ่ ทำให้สูญเสียอวัยวะ สำคัญๆ ยกเว้นดวงตา
– ถึงแก่กรรม มีสาเหตุจาก โรคมะเร็งที่ลุกลาม บริเวณศีรษะและ สมอง ช่องอก ช่องท้อง หรือติดเชื้อโรคร้ายแรง เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ไวรัส ตับอักเสบ วัณโรค และ พิษสุนัขบ้า
– เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มีคดี เกี่ยวข้องกับคดี หรือมีการผ่าพิสูจน์
– ผู้อุทิศร่างกายฯ ที่มีน้ำหนักมากเกินกว่า 80 กิโลกรัม หรือ ผอมมากลักษณะไม่มีกล้ามเนื้อ
– ร่างกายผู้อุทิศร่างกายฯ ที่ไม่เหมาะจะใช้ศึกษาได้ เช่น แขน ขา คด งอ จนเสียรูปร่าง
* เมื่อเสียชีวิตญาติสามารถดำเนินการกับร่างของผู้อุทิศตามประเพณีได้เลย โดยไม่ต้องแจ้งกับทางโรงพยาบาลอีกแล้ว

สถานที่ติดต่อ : ศาลาทินทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

การเดินทางมาง่ายๆ โดย บีทีเอส ลงที่สถานีศาลาแดง ออกมาทางประตูที่ 5

เมื่อเดินเข้ามาในโรงพยาบาลจะเจอ ศาลาทินทัต 

 

การบริจาคอวัยวะ เพื่อการปลูกถ่าย

ปัจจุบันมีผู้ป่วยในระยะสุดท้ายอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ทุกข์ทรมานจากการที่อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ, ตับ, ไต, ปอด ฯลฯ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ วิธีรักษาทางการแพทย์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้ คือ การปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ ด้วยอวัยวะของผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งได้แสดงเจตนารมณ์ในการบริจาคอวัยวะ หรือได้จากญาติที่มีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะของบุคคลนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมาปลูกถ่าย จึงจะช่วยให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายมีชีวิตอยู่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและ สังคมต่อไปได้

อวัยวะใหม่ที่สามารถนำมาปลูกถ่ายซึ่งได้มาจากการนำอวัยวะใหม่เปลี่ยนแทนอวัยวะเดิมที่เสื่อมสภาพ จนไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ และการผ่าตัดนั้นจะเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยในระยะสุดท้าย เพื่อให้อวัยวะใหม่นั้นทำงานแทนอวัยวะเดิม ต้องเสียชีวิตจากสมองตายเท่านั้น หลังจากผ่าตัดนำอวัยวะออกซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง แพทย์จะตกแต่งร่างกายให้คงเดิมและมอบให้ญาตินำกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาได้

ขั้นตอนการบริจาค

  1. กรอกรายละเอียดในใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะให้ชัดเจน ที่อยู่ควรจะตรงกับทะเบียนบ้าน (หากต้องการให้ส่งบัตรประจำตัวไปยังสถานที่อื่น กรุณาระบุ)
  2. พิมพ์ใบแสดงความจำนงบริจาค ส่งเอกสารมายังศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และเมื่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้รับใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะของท่านแล้ว ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว้
  3. หลังจากที่ท่านได้รับบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะจากศูนย์รับ บริจาคอวัยวะฯ แล้ว อย่าลืมกรอกชื่อ และรายละเอียดการบริจาคลงในบัตร
  4. กรุณาเก็บบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับตัวท่าน หากสูญหายกรุณาติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย

คุณสมบัติของผู้บริจาคอวัยวะ

  1. ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
  2. เสียชีวิตจากสภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่าง ๆ
  3. ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
  4. ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
  5. อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี
  6. ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
  7. กรุณาแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะแก่บุคคลในครอบครัวหรือญาติให้รับทราบด้วย

สถานที่ติดต่อ :  ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5

อาคารนี้อยู่บนถนนอังรีดูนังต์ แค่ข้ามถนนมาจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ นิดเดียวเท่านั้น

เมื่อเดินเข้าประตูมา ตึกจะอยู่ทางขวามือ

แลกบัตรแล้วกดลิฟท์มาชั้น 5 ได้เลย

การบริจาคดวงตา

ผู้เสียชีวิตที่สามารถนำดวงตาไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องไม่เสียชีวิตด้วยโรคที่อาจติดต่อถึงผู้ป่วยที่ได้กระจกตานั้นในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา เช่น โรคเอดส์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไวรัสตับอักเสบบี ตับอักเสบซี โรคติดเชื่อในกระแสเลือด ซึ่งภายหลังจากถึงแก่กรรม ดวงตาจะเริ่มเสื่อมคุณภาพ ดังนั้น จำเป็นต้องรีบเก็บดวงตาให้เ็วที่สุดอย่างช้าไม่ควรเกิน 6 ชั่วโมง ถ้าช้าไปดวงตาอาจใช้ไม่ได้หรือไม่เท่าที่ควร

ทุกๆคนสามารถบริจาคดวงตาได้ถึงแม้จะมีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ถ้ากระจกตายังใสเป็นปกติ ก็สามารถบริจาคดวงตาได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าได้รับการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ เช่น Lasik , PRK ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบก่อน

สิ่งตอบแทนผู้บริจาคดวงตา 

  • จัดดอกไม้หรือพวงหรีดไปเคารพศพของผู้บริจาค
  • มอบเกียรติบัตรของสภากาชาดไทยยกย่องคุณความดีของผู้บริจาคดวงตา
  • ขอพระราชทานเพลิงศพหรือดินฝังศพให้เป็นกรณีพิเศษ เมื่อทายาทมีความประสงค์
  • ขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีอุปการะคุณสภากาชาดไทยระดับทอง 4.4 ให้ทายาทของผู้บริจาคดวงตา 1 คน

สิทธิประโยชน์ของผู้มีอุปการะคุณ สภากาชาดไทย ระดับทอง 4.4

  • ได้รับลดหย่อนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) 50% ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (IPD) 50% เมื่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา รวมถึงได้รับการตรวจสุขภาพฟรี
  • ได้รับการลดหย่อนค่าห้องพิเศษ และค่าอาหารพิเศษตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
  • ประดับเข็มสมาชิกสภากาชาดไทยเข้าชมงานกาชาดโดยไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู

สถานที่ติดต่อ : อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฒโน) ชั้น 7

แนะนำว่าสำหรับใครที่จะบริจาคควรขออนุญาตพ่อแม่หรือสามีภรรยาก่อนนะคะ แต่ถ้าไม่มีใครเห็นด้วยก็สามารถเปลี่ยนมา บริจาคเลือด และ บริจาคสเต็มเซลล์ แทนก็ได้

สเต็มเซลล์ มีคุณสมบัติคือการให้กำเนิดตัวเองได้ตลอดเวลา เมื่อเราบริจาคสเต็มเซลล์ให้กับผู้ป่วย สเต็มเซลล์ก็จะกำเนิดตัวเองขึ้นมาใหม่โดยไม่มีวันหมดไปจากร่างกาย แต่การจะได้เป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์ ผู้บริจาคจะต้องมีผลเนื้อเยื่อเอชแอลเอ HLA ตรงกับผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งโอกาสยากถึง 1 ใน 10,000

คุณสมบัติเบื้องต้นของอาสาสมัคร

  • ลงทะเบียนพร้อมบริจาคเลือด
  • สุขภาพแข็งแรง
  • อายุ 18-50 ปี
  • น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
  • ไม่มีโรคประจำตัว
  • ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง
  • ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง

ที่มา – mthai