เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวถึงการดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. ว่า สืบเนื่องจากมาตรการในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างจริงจัง ซึ่งมีการบูรณาการการทำงานระหว่าง ปปง. สำนักงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เป็นต้น ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ปปง. (ศปก.ปปง.) สายด่วน ปปง. 1710 จากสถิติการรับเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 จนถึงปัจจุบัน (๑๙ มี.ค.61) สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายได้ทันก่อนที่มิจฉาชีพจะโอนเงินหรือถอนเงินออกไป จำนวน 74 ราย รวมมูลค่ากว่า 34 ล้านบาท รวมทั้งได้ดำเนินการส่งมอบเงินให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อคืนให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 5 ครั้ง เพื่อบรรเทาความเสียหายให้กับประชาชนได้จำนวน 40 ราย เป็นเงินจำนวน 6.7 ล้านบาทเศษ

ขณะนี้มิจฉาชีพได้เปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงให้มีความซับซ้อนและตรวจสอบยากขึ้น คือการโทรศัพท์ไปหาประชาชนที่บ้าน แล้วอ้างตัวเป็นตำรวจระดับสูงโทรมาเพื่อขอตรวจสอบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จะถูกระงับบัญชี และหมายเลขโทรศัพท์ หากไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจ เหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยอยู่บ้านลำพัง เมื่อถูกข่มขู่เหยื่อหลงเชื่อเพราะตกใจกลัว จะขอทราบหมายเลขบัญชีธนาคารและเงินคงเหลือในบัญชีทุกธนาคาร แล้วหลอกลวงเหยื่อว่าจะทำการตรวจสอบบัญชีโดยขอให้เหยื่อปิดบัญชีเงินฝากทุกบัญชี แล้วนำเงินทั้งหมดไปเปิดบัญชีใหม่ที่ธนาคาร และให้เหยื่อทำบัตรเอทีเอ็มในการกดเงิน เมื่อถึงธนาคารจะกำหนดหมายเลขรหัสบัตรเอทีเอ็มให้กับเหยื่อให้กดตามที่มิจฉาชีพบอก ไม่ว่าจะเป็น 4 หลัก หรือ 6 หลัก ยกตัวอย่างเช่น รหัสง่ายๆ 1234 เป็นต้น จากนั้นเหยื่อจะนำเงินสดทุกบัญชีฝากเข้าบัญชีที่เปิดใหม่ แล้วกลับบ้านโดยเหยื่อไม่เอะใจหรือสงสัย เพราะเงินทั้งหมดตนเองนำฝากในบัญชีใหม่ หลังจากนั้นผ่านไป 2 – 3 ชั่วโมง พบว่าเงินถูกถอนออกจากบัญชีไปจนหมดบัญชี จึงแจ้งไปยังธนาคารพบว่ามีว่าการถอนออกไปด้วยอินเตอร์เนตแบงค์กิ้ง อย่างรวดเร็ว โดยจะโอนไปยังบัญชีเหยื่อรายอื่นที่ถูกหลอกในลักษณะเดียวกัน และถูกโอนต่อไปยังบัญชีเหยื่อรายที่ 3 อีกหนึ่งทอด ก่อนที่จะถอนเงินสดทางตู้ ATM ที่ประเทศมาเลเซีย หรือใต้หวัน หรือในบางกรณีจะมีการถอนเงินออกจากบัญชี โดยไม่ใช้บัตร ATM ด้วยการโทรศัพท์ไปยังหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารและสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชี (เนื่องจากได้ข้อมูลส่วนตัวจากเจ้าของบัญชีจากการหลอกหลวง) คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารจึงเชื่อว่าเป็นเจ้าของบัญชีจริง จึงแจ้งรหัสเพื่อถอนเงินให้กับมิจฉาชีพ แล้วมิจฉาชีพจึงถอนเงินออกไปหมดทั้งบัญชี หรืออีกกรณีคือจะมีการขอรหัส OTP จากเหยื่อโดยอ้างว่าเป็นรหัสลับ 4 หลัก แจ้งให้กับมิจฉาชีพที่อ้างเป็นตำรวจโดยอ้างว่าเป็นการนำไปตรวจสอบ โดยรหัสดังกล่าวคือรหัสการยืนยันการโอนเงิน แล้วเงินถูกถอนออกจากบัญชีทั้งหมด

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. จึงขอฝากแจ้งเตือนประชาชน แจ้งเตือนบุคคลใกล้ชิดโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว หากมีโทรศัพท์โทรมาที่หมายเลขโทรศัพท์บ้านแล้วอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ขอให้รีบวางสายอย่าคุยเด็ดขาด แล้วให้รีบแจ้งที่สถานีตำรวจใกล้บ้านให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใกล้บ้านเพื่อประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่ถูกแอบอ้าง เพื่อมิให้ถูกหลอกลวง หรือให้รีบแจ้งบุตรหลานหรือบุคคลใกล้ชิด อย่าคุยคนเดียวเด็ดขาด เพราะเป็นจุดอ่อนให้กับมิจฉาชีพใช้ข่มขู่เหยื่อให้กลัวแล้วทำตามที่มิจฉาชีพทุกอย่าง แล้วสูญเสียเงินจำนวนมาก และฝากไปถึงสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยเฉพาะผู้ให้บริการที่เคาท์เตอร์รับฝากเงินทุกสาขาทั่วประเทศ สอบถามประชาชนโดยเฉพาะการเปิดบัญชีและทำบัตรเอทีเอ็มว่า “ท่านเปิดบัญชีตามที่เจ้าหน้าที่โทรแจ้งว่าจะช่วยเหลือทางคดีแล้วให้ปิดทุกบัญชีมาเปิดใหม่ใช่หรือไม่” เพียงเท่านี้ท่านอาจช่วยเหลือประชาชนที่กำลังถูกหลอกลวงในขณะนั้นให้มีสติและไม่หลงเชื่อได้ แล้วรีบให้ประชาชนโทรระงับทุกบัญชีเพื่อมิให้มิจฉาชีพถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชน

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ “การเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ไม่แจ้งกับใครทางโทรศัพท์ โดยเฉพาะเลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด หมายเลขบัญชีเงินฝาก หมายเลขบัตรเครดิต” ทุกอย่างที่เป็นข้อมูลทางการเงิน และบุตรหลานที่ไปทำงานจะต้องแจ้งเตือนบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเพียงลำพัง อย่าหลงเชื่อเมื่อมีคนโทรเข้ามือถือหรือโทรเข้าที่บ้าน ให้รีบวางสายทันทีและรีบแจ้งตำรวจหรือบุตรหลาน ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพใช้บัญชีของประชาชนเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดอีกต่อไป และหากถูกหลอกแล้วให้รีบโทรแจ้งสายด่วน ปปง. 1710 ซึ่งเปิดทำการทุกวันโดยไม่เว้นวันหยุดราชการ